ถกสนั่น ‘เด็ก 15 เปลือยตลอดร่าง’ ภาพถ่ายฝรั่งสมัยร.4 เหมาะ-ไม่เหมาะ ร่วมจัดแสดงนิทรรศการภาพ BACC 

ถกสนั่น ‘เด็ก 15 เปลือยกายตลอดร่าง’ ภาพถ่ายฝรั่งสมัยร.4 เหมาะ-ไม่เหมาะ ร่วมจัดแสดงนิทรรศการภาพ BACC

กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ว่าเหมาะสมหรือไม่กับการนำภาพถ่ายเปลือยทั้งตัวของเด็กหญิงชาวไทยอายุ 15 ปีบันทึกภาพเมื่อพ.ศ. 2405 ในสมัยปลายรัชกาลที่ 4 โดยปีแยร์ รอซีเยร์ (Pierre Rossier) มาจัดแสดงในนิทรรศการภาพซึ่งจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ BACC

 

โดยอาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ โพสต์ว่า พี่ป้อม(นิธินันท์ ยอแสงรัตน์) ส่งภาพนี้ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่กรุงเทพ มาให้ดูแล้วถามว่าผมคิดอย่างไรระหว่าง child pornography กับ exotic ภาพนี้ระบุว่าถ่ายปีพ.ศ.2405 ตรงกับปลายรัชกาลที่ 4 สำหรับผมคิดว่าภาพนี้สะท้อนมุมมองของพวกฝรั่งในเรื่อง downgrade คนด้วย พวกฝรั่งตะวันตกจะเชื่อว่าตนมีอารยะในขณะที่คนอื่นๆจะไร้อารยะ การแสดงออกถึงการไร้อารยะอย่างหนึ่ง

ก็คือ naked เปลือยเปล่า ผมคิดว่าในตอนนั้นฝรั่งคนถ่ายต้องการให้เห็นเรื่อง exotic เป็นสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันมันก็สะท้อนเรื่อง downgrade คนในบ้านเมืองเรา ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากนั้นอีกไม่นาน รัดยาร์ด คิปลิ่ง ก็ได้เขียนบทกวีที่ชื่อ The White Man’ s Burden

Advertisement

นั่นคือคนในบ้านเมืองเราแถวอุษาคเนย์ ยังไร้อารยะเหมือนคนเปลือยเปล่า ต้องพึ่งพาฝรั่งตะวันตกที่จำนำอาภรณ์มาสวมให้ อาภรณ์ก็คืออารยะนั่นเอง ส่วนภาพนี้จะเป็นประเด็นchild pornographyหรือไม่ ก็มีคนตอบแล้วว่า”ไม่” เพราะตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายนี้ครับ

ขณะที่ นายรัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Russ Charnsongkram” ระบุว่าหลายวันก่อนได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการศิลปะที่ BACC โดยในส่วนที่จัดแสดงภาพถ่ายเก่าแสดงความเป็นอยู่ของชาวไทยในอดีตนั้น มีภาพหนึ่งที่รบกวนจิตใจของ ซึ่งเป็นภาพราวร้อยปีมาแล้วของเด็กสาวชาวไทยอายุ 15 ที่เปลือยเปล่าทั้งเรือนกาย สีหน้าบ่งบอกความสับสนไม่พอใจรวมทั้งหวาดระแวงและหวั่นกลัวปะปนกันอยู่ซึ่งถ่ายโดยช่างภาพฝรั่งคนหนึ่ง

Advertisement

“ที่มันรบกวนจิตใจเพราะผมเห็นว่าภาพนี้น่าจะเข้าข่ายภาพอนาจารของผู้เยาว์ในความหมายปัจจุบันและมีความผิดตามกฎหมาย แต่กลับถูกนำมาจัดแสดงต่อสาธารณะชนคนทั่วไป โดยทางผู้จัดไม่ได้เห็นถึงสิ่งผิดปกติหรือความละเอียดอ่อนในการแสดงภาพนี้ ที่ไม่ได้มีบริบทอะไรที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชาวไทยในยุคนั้นเช่นเดียวกับภาพอื่นๆ เลย

ที่มีบางคนมองว่าเพราะฝรั่งเป็นคนถ่ายภาพ มันก็น่าโอเค ฝรั่งก็ชอบถ่ายภาพแบบนี้ เอามาจัดแสดงก็ไม่แปลกอะไร ทั้งที่เห็นได้ว่าภาพนั้นจัดเป็นการเอาเปรียบทางเพศผู้เยาว์อย่างหนึ่ง (ซึ่งหลังจากถ่ายภาพเสร็จเราก็ไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกด้วย) มีคนบอกว่าการแสดงภาพนี้ไม่ผิด เพราะในยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับในเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่ามันผิดประเด็น ส่วนตัวผมเชื่อว่าแม้ในยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่แม้แต่สังคมในยุคนั้นยอมรับว่าถูกต้องดีงามเช่นกัน

และประเด็นสำคัญมันคือ แม้ในตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับ แต่จะอย่างไรนี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และยิ่งไม่ใช่ในยุคปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่ควรจะสนับสนุนให้เอามาเผยแพร่ แบบไม่ต้องคิดอะไรในที่สาธารณะหรือ? มันโอเค เพียงเพราะมันเป็นภาพเก่าในอดีตที่ฝรั่งแอบมาถ่ายไว้ ?” นายรัศมิ์ระบุ

ส่วน “นิธินันท์ ยอแสงรัตน์” สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุในตอนหนึ่งว่า ขอบันทึกความเห็นเพิ่มเติมของตัวเองว่า

1.เหมือนจะจำได้ลางๆ ว่าเมื่อนิทรรศการและหนังสือ Unseen Siam เผยแพร่เป็นครั้งแรก มีผู้ตั้งคำถามว่าเด็กผู้หญิงในภาพหน้าบึ้งมากเหมือนถูกบังคับ เธออาจเป็นไพร่ทาสหรือโสเภณีที่ถูกบังคับให้ถ่ายภาพเปลือยหรือไม่?

สำหรับเราภาพนี้มีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์และศิลปะหลายประการ รวมถึงทัศนคติเกี่ยวกับเรื่อง “เปลือย” “เซ็กซ์” หรือความเป็นหญิงกับความเป็นชายในทัศนะคนตะวันออกและคนพื้นถิ่นในที่ต่างๆ ทั่วโลกก่อนยุควัฒนธรรมวิกตอเรียนของอังกฤษ (ประมาณพ.ศ. 2373-2444 / ค.ศ. 1830-1901) จะเฟื่องฟูจนมีอิทธิพลครอบงำวัฒนธรรมอื่นอย่างกว้างขวาง

2.สมัยก่อนไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนใดๆ การล่วงละเมิดมนุษย์อย่างรุนแรงทั้งทางกายและทางใจเหมือนเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้มีอำนาจมากกว่า และคนส่วนใหญ่น่าจะไม่เห็นเป็นเรื่องผิด

3.ปัจจุบันสังคมมนุษย์ทั่วโลกมีความเข้าใจและตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนรวมถึงสิทธิสตรีและเด็กต่างๆ นานา แม้คงไม่สามารถนำกฎหมายยุคใหม่ไปตัดสินว่าภาพในอดีตเช่นนั้นเช่นนี้ผิด ไม่เหมาะสม ไม่ควรเผยแพร่ เราก็เข้าใจฝ่ายที่คิดว่า ภาพเช่นนี้ไม่เหมาะสมในปัจจุบันเพราะคนในภาพยังเป็นเด็ก และเชื่อว่าถ้ามีนิทรรศการภาพเช่นนี้ในต่างประเทศ คงมีฝ่ายเคร่งหลักสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิสตรีและเด็กต่างๆ ออกมาตั้งคำถามแล้วถกเถียงกับฝ่ายที่มองว่าเป็นประวัติศาสตร์และศิลปะอย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องช่วยเพิ่มพูนสติปัญญาความรู้

4.ในแง่ส่วนตัว เราไม่ฟันธงดำขาวความคิดของใคร แต่ไม่คิดว่าภาพในลักษณะนี้ควรเป็นภาพ “ต้องห้าม” หรือ “ปกปิด” เพราะมองในแง่คุณค่าทางประวัติศาสตร์เช่นกัน แบบเดียวกับภาพทารุณโหดร้ายในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์เขมรแดงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมรระหว่างปีพ.ศ .2518-2522 /ค.ศ. 1975-1979) หรือเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ที่พรรคนาซีเยอรมันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวระหว่างปีพ.ศ. 2476-2488 /ค.ศ.1941-1945)

5.แต่ขณะเดียวกัน ก็คิดว่าเมื่อถึงยุคนี้ซึ่งผู้คนมีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิสตรีและเด็กต่างๆ ประเด็นหลักที่ควรต้องพิจารณาเกี่ยวกับภาพแบบนี้ น่าจะเป็นเรื่องของพื้นที่จัดวางภาพว่าอย่างไรจึงเหมาะสม (อันที่จริงมิวเซียมเป็นที่ที่เหมาะสมแต่อาจต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เป็นต้น) หรือควรใช้ภาพนี้ต่อยอดสร้างความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ กับผู้คนในสังคมอย่างไรได้บ้าง ซึ่งไม่ใช่ภาพเพื่อความบันเทิงหรือความสะใจหรือแม้แต่มุงดูให้เกิดอารมณ์สลดเพื่อตอบสนองความรู้สึกเชิงศีลธรรมแสนดีงามของตัวเองในระยะสั้น

6.นอกจากนั้น น่าคิดว่า ถ้าเธอในภาพมาจากครอบครัวที่เรียกกันว่า “มีชาติ มีตระกูล” เธอคงไม่ต้องเป็นนางแบบเปลือยหน้าบูดบึ้งเช่นนี้ และเธออาจมีโอกาสเป็นบรรพบุรุษของพวกเราที่ (อาจ) ทำให้พวกเราต้องส่งเสียงประท้วงว่า “ไม่เอาๆๆๆ ภาพนี้หมิ่นเกียรติยายทวดย่าทวดของเรา หมิ่นวงศ์ตระกูลเรา จงเก็บหรือทำลายรูปนี้เสียเถิด” เป็นต้น

สำหรับเรา ทุกเรื่องในโลกไม่ใช่สีดำขาว และยกเว้นความจริงที่เป็น truth ซึ่งไม่อาจบิดเบือนประเภทเราเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นจากทิศหนึ่งแล้วตกลับฟ้าอีกทิศหนึ่งที่อยู่ตรงกันข้าม ฯลฯ เหล่านี้ ความจริงอื่นอาจมีได้หลายชุด เช่นถุงข้าวสารห้ากิโลหนักมากเป็นความจริงสำหรับยายอายุเก้าสิบปี แต่ความจริงสำหรับหลานชายอายุยี่สิบห้าปีคือเบามาก หรือเรื่อง LBGTQs ซึ่งเคยเป็นเรื่องปกติในสังคมมนุษย์มานานแล้วก่อนจะมีคนเชื่อว่าไม่ปกติและกำลังจะกลับสู่ความเชื่อปกติว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นต้น

เมื่อต้องต่อสู้ทางความคิดใดๆ กับคนด้วยกันในเวลาที่เขามีสติ ไม่ได้ถือปืนมาจ่อหัวเราหรือไม่ได้กำลังน้ำลายฟูมปากอยากด่าหยาบๆระบายอารมณ์ การแลกเปลี่ยนความเห็นด้วยหลักการอย่างมีเหตุผลสมเหตุสมผลจึงสนุกกว่าเถียงด้วยมาตรฐานศีลธรรมส่วนตัวตัดสินถูกผิดดีเลว เราทุกคนไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันแต่อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องเสียเวลาตีกันในเรื่องจุกจิกจุ๊กจิ๊ก เพราะยอมรับว่า เออ คิดคนละแบบ ทำอะไรร่วมกันได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็แยกกันทำ ไม่ต้องบังคับแบบเผด็จการว่าทุกคนต้องคิดเหมือนฉันสิ สนับสนุนฉันสิ คิดไม่เหมือนฉันคือเลว ต้องด่าๆๆๆๆๆ ซึ่งอันที่จริงน่าจะมีไม่กี่เรื่องให้เราประณามคนอื่นได้ว่าเลว โดยเบื้องต้นที่สุดคือ ทำร้ายคนอื่นหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อนมีความทุกข์หรือเกิดความสูญเสียต่างๆ ทั้งทางกายวาจาใจ มากบ้างน้อยบ้าง

ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆๆๆๆๆๆ แต่ดูเหมือนจะยังเป็นปัญหาในสังคมวันนี้ไหมนะ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image