วอนรัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ จี้กลุ่มคัดค้านมองประโยชน์ส่วนรวม เผยข้อดีเพียบ

วอนรัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ จี้กลุ่มคัดค้านมองประโยชน์ส่วนรวม เผยข้อดีเพียบ นายก ส.บ.ม.ท.ลุ้นร่าง กม.ผ่าน ก.พ.นี้ หลัง ส.ส.เพื่อไทย ขอถอนร่างกฎหมายจากวาระการประชุม แต่เสียงส่วนใหญ่ให้เดินหน้าพิจารณาต่อ

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยลงรายละเอียดเป็นรายมาตรา และจะพิจารณาครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้า คาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ในวาะ 2 และ 3 ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพื่อผลักดันกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา จะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปที่ห้องเรียน และตัวเด็กอย่างแท้จริง

“ผมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้ น่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะเมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา ส.ส.เพื่อไทย ได้เสนอให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากวาระการประชุม แต่เสียงส่วนมากลงมติให้เดินหน้าพิจารณาต่อ ดังนั้น จึงมีความหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบ และประกาศใช้ทันในรัฐบาลนี้ ส่วนกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน อยากให้มองประโยชน์ส่วนรวม และข้อดีของกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังโรงเรียน ทั้งเรื่องการคัดเลือกบุคลากร งบประมาณ และแนวทางการจัดการเรียนการสอน รวมถึง งบประมาณ ที่จะส่งตรงถึงโรงเรียนโดยตรง ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน ตั้งแต่ช่วงที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ใช้งบไปกว่า 1 พันล้านบาท จึงไม่ควรทำให้เวลา และงบดังกล่าว เกิดความเสียเปล่า โดยไม่ได้ประโยชน์” ดร.วิสิทธิ์ กล่าว

ดร.วิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ส.บ.ม.ท.ประชุม และหารือเรื่องนี้มาต่อเนื่องกว่า 2 ปี ทำให้เห็นข้อดี เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันของสังคมโลก และบริบทของประเทศไทย อาทิ การจัดการศึกษาเป็นช่วงวัย ตามมาตรา 8 เพื่อให้มีหน่วยงานจัดการศึกษาให้เหมาะสมตามช่วงวัย เกิดคุณภาพกับผู้เรียน ความมีอิสระในการจัดการศึกษาของรัฐบาล เอกชน และผู้ปกครอง พร้อมทั้งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาตามมาตรา 11 วรรค 5 มีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มนิติบุคคล มาตรา 22-30 ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการดูแลเรื่องค่าตอบแทน และวิทยฐานะ มาตรา 42 และมาตรา 108 มีสถาบันพัฒนาหลักสูตร เพื่อพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง มีกองทุนครูของแผ่นดิน สนับสนุนส่งเสริมครูให้ทำงานได้เต็มที่ มีกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สนับสนุนการเรียนการสอนยุคใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนและชุมชน มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาชาติ กำหนดการนโยบายกาศึกษาของชาติ ที่สำคัญ ศธ.มีเอกภาพในการจัดการศึกษามากขึ้น จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารงาน

“ต้องยอมรับว่า การจัดการศึกษาที่ผ่านมามีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบที่ขาดประสิทธิภาพ เพราะสายการบังคับบัญชาค่อนข้างยาว ดังนั้น การกระจายอำนาจ จัดสรรงบลงไปที่โรงเรียนโดยตรง จะทำให้การพัฒนาการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากโรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกันแล้ว เด็กจะไม่มากระจุกตัวอยู่ในเมือง ผมเชื่อว่าผู้อำนวยการโรงเรียน และครูทุกคน ต้องการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองอยู่แล้ว ส่วนปัญหาการทุจริตนั้น จะมีการตรวจสอบตามกระบวนการ โดยเฉพาะขณะนี้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จังหวัด ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ จะไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูก” ดร.วิสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image