รายงานการศึกษา : 2 น.ร.ทุนมูลนิธิเอสซีจี บทพิสูจน์ ‘Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด’

รายงานการศึกษา : 2 น.ร.ทุนมูลนิธิเอสซีจี บทพิสูจน์ ‘Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด’

จากภารกิจสำคัญในการสร้างอนาคตให้เยาวชนไทย อยู่รอดได้ในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มูลนิธิเอสซีจี จึงมุ่งสนับสนุนการเรียนรู้ตามแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ด้วยการมอบทุนการศึกษาให้นักเรียน ทั้งการศึกษาในระบบปกติ และการศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น เพื่อเน้นการประกอบอาชีพ (Short course) ซึ่งแนวคิดนี้ ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นจากอดีตนักเรียนทุนของมูลนิธิฯ แล้วว่า เป็นแนวคิดที่ Learn แล้วสามารถ Earn ได้จริง

กีตาร์ ชลธิตา วงษ์แก้ว สาวน้อยจากน่าน ที่มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ พร้อมเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน ที่ต้องการเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล เธอได้รับทุนหลักสูตรระยะสั้นจากมูลนิธิฯ ในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) และปัจจุบัน เธอมีอาชีพเป็นผู้ช่วยพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์

“ที่บ้านมีรายได้ไม่แน่นอน ถ้าตอนนั้นเลือกเรียนต่อปริญญาตรี พ่อแม่ก็คงส่งเรียนต่อไม่ไหว ดูแล้วไม่มีทางเลือกไหนที่ดีไปกว่าการหาหลักสูตรระยะสั้น ที่เรียนจบไวๆ จะได้รีบทำงานช่วยทางบ้านหาเงิน ซึ่งก็มารู้จักงานผู้ช่วยพยาบาลจากรุ่นพี่ที่ได้ไปเรียนมาก่อน ว่าเป็นหลักสูตรระยะสั้น เรียนแค่ปีเดียว จบไว มีงานรองรับแน่นอน ก็เลยคิดว่าเรียนทางนี้ก่อนดีกว่า”

Advertisement

กีตาร์ เล่าว่า “พอมาเรียนแล้วก็รู้สึกชอบ มีเพียงบางสกิลที่ทำแทนพยาบาลไม่ได้ ซึ่งโดยรวมแล้วก็โอเค ตอนเรียนก็มีแอบรู้สึกบ้างในบางเวลา ว่าทุกวิชาที่เรียนแอบยาก แต่ก็ผ่านมาได้ จบแล้วก็มาทำงาน ได้เจอคนไช้หลายแบบ แล้วก็เจอเคสที่หลากหลายค่ะ ทั้งเด็ก คนสูงอายุ คนไข้อุบัติเหตุ ไปจนถึงคนไข้ที่มารับคีโม การดูแล และการทำหัตถการของแต่ละเคสก็ต่างกัน คนไข้แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ต้องมีความเข้าใจ เวลาจะดูแล หรือช่วยเหลือเขา จะได้ไม่มีอะไรผิดพลาดค่ะ”

ปัจจุบัน กีตาร์ตั้งเป้าหมายอนาคตไว้ว่า จะขยับขยายเส้นทางการเติบโตของชีวิตตัวเอง ด้วยการอัพสกิลด้านภาษาอังกฤษ และยังวางแผนว่าอาจจะสอบเป็นพยาบาลวิชาชีพต่อไปในอนาคต

Advertisement

ด้วยความที่ชอบทำอาหาร จึงเลือกเรียนทำอาหาร และทำอาหารขาย น้อย ปารเมศ สายสุทธิ เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้พัฒนาตัวเอง และเก็บประสบการณ์จากเวทีการแข่งขัน นำความรักความชอบมาศึกษาต่อยอด และนำมาประกอบอาชีพมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างมั่นคง และยังอัพสกิลเรื่องการทำธุรกิจออนไลน์ โดยเรียนรู้จากสถานการณ์ และสภาพการตลาดจริง เพื่อขยายกิจการให้เติบโตขึ้นอีกด้วย

ปารเมศเป็นหนุ่มมหาสารคาม ที่ค้นพบตัวตนได้ตั้งแต่ตอนเรียนชั้นมัธยมต้นว่าเป็นคนชอบทำอาหาร จึงตัดสินใจเลือกเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาอาหารและโภชนาการ ได้รับทุนอาชีวะฝีมือชนคนสร้างชาติ ของมูลนิธิเอสซีจีตั้งแต่ปี 2562 และรับต่อเนื่องมาจนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) อนุปริญญา คณะคหกรรมศาสตร์ สาขาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตรเทียบโอน สาขาอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร

นอกจากการเรียนแล้ว ปารเมศยังสามารถนำความรักความชอบ และความรู้ที่ได้เรียนมา สร้างรายได้จากการทำอาหารขาย จนกลายเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเอง ส่งเสียตัวเองเรียนต่อในตอนนี้ และเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมั่นคง

“ผมทำขนม ทำเบเกอรี่ขายครูในโรงเรียนมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมต้น เคยมีเชฟวิลเมนต์ ลีออง เห็นแวว ได้ดึงตัวไปฝึก และส่งแข่งขัน สนามแรกที่ลงแข่งคือ THAIFEX ต่อมาก็ได้มีโอกาสไปลองแข่งอีกหลายสนาม รวมถึง ไปแข่งในนามโรงเรียนอีกหลายครั้ง ซึ่งก็มีทั้งชนะ ทั้งแพ้ โดยการแข่งขันส่วนตัว เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับประเทศของงาน MAKRO Horeca Challenge และได้รับรางวัลเหรียญเงิน รายการแอตแลนติกเชฟ ปี 2017”

ปัจจุบัน นอกจากน้อยจะทำเบเกอรี่ขาย ทั้งช่องทางออนไลน์ และวางขายที่ร้านขนมของทางวิทยาลัยแล้ว ยังเปิดคลาสสอนทำอาหารออนไลน์ ทางเพจ NN Baking : Bakery Online Class ที่ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเรียนทำอาหารกับน้อยแล้วกว่า 700 คน เรียกได้ว่าสามารถทำรายได้เลี้ยงตัวเอง และครอบครัว ได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร

ขณะที่ สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการ และผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ทิ้งท้ายว่า มูลนิธิเอสซีจีเป็นเหมือนสะพาน ที่จะช่วยส่งนักเรียนไปให้ถึงฝั่งฝันของแต่ละคน เพราะตระหนักดีว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเสริมความรู้ และทักษะที่ใช้ทำงาน (Hard skill) และทักษะทางด้านการเข้าสังคมและอารมณ์ (Soft skill) หรือทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Power Skill) เป็นทักษะที่มีความจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต และการทำงานของเยาวชน Generation Z ทั้งในยุคปัจจุบัน และในอนาคต การสนับสนุนการศึกษาตามแนวคิด Learn to Earn สามารถตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบันนี้ได้อย่างแท้จริง

จากตัวอย่างของ 2 นักเรียนทุนของมูลนิธิฯ แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนการเรียนรู้ตามแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” สามารถสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ได้จริงๆ เพราะการเรียนรู้เพื่ออยู่รอดนั้น ไม่ได้จำกัดไว้ตายตัวว่าต้องเป็นการเรียนในระดับอุดมศึกษา หรือการเรียนสายอาชีพแบบหลักสูตรระยะสั้น เพราะทั้งหมดอยู่ที่ตัวผู้เรียนเอง

คนที่ยังค้นหาตัวตนไม่เจอ อาจจะตัดสินใจเลือกเรียนหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรด้านอาชีพ เพราะเชื่อว่าจบมาแล้ว จะได้มีงานทำ มีรายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเอง และครอบครัว…

แต่สำหรับคนที่มีเป้าหมายชัดเจน เป้าหมายของชีวิตก็จะมีความชัดเจนขึ้น หรือนำความรักความชอบมาต่อยอดทางด้านการเรียน ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น จากการได้ทำในสิ่งที่รักให้เป็นอาชีพ และมีรายได้ที่มั่นคงเพียงพอที่จะเลี้ยงดูตนเอง และครอบครัวให้อยู่รอดได้ในสังคมปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image