‘สืบพงษ์’ เตรียมฟ้อง กก.สภารามฯ หลังศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กลับเข้าทำหน้าที่อธิการบดี

‘สืบพงษ์’ เตรียมฟ้องกรรมการสภา ม.ร.รอบ 2 หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กลับทำหน้าที่อธิการบดี ชี้มติถอดถอน-ตั้ง รก.อธิการบดี ไม่ชอบด้วย กม.ศาลแจงก่อนมีมติถอดถอนต้องให้เจ้าตัวรับทราบ-โต้แย้ง-แสดงหลักฐาน

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่อาคารสำนักงานอธิการบดี ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) กล่าวในการแถลงภายหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี โดยให้ทุเลาการบังคับตามมติของสภา ม.ร.ที่ได้ถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดี ม.ร.และทุเลาการแต่งตั้ง ผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาการอธิการบดี ว่า ตนได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นอธิการบดีตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2564 เป็นได้ 3 เดือน ก็ถูกถอดถอนรอบแรก จากนั้นศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองให้ตนกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 17 มกราคม 2565 จนมีคำสั่งถอดถอนจากตำแหน่งอธิการบดีรอบ 2 ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ด้วยข้อกล่าวหาว่าประพฤติผิดจริยธรรม และจรรยาบรรณ ในพฤติการณ์ 3 กรณี

ผศ.ดร.สืบพงษ์กล่าวต่อว่า 1.ให้ความช่วยเหลือนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยการรับโอนที่ดินจากนายสุพจน์ 2 แปลง และกล่าวอ้างว่าเงินของนายสุพจน์ที่ถูกยึดเป็นของกลางส่วนหนึ่ง จำนวน 3,500,000 บาทนั้น เป็นเงินของตน เมื่อมีคำพิพากษาให้ที่ดิน และเงินของตน ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ไม่ได้รายงานให้ ม.ร.ซึ่งเป็นต้นสังกัดทราบ สภา ม.ร.เห็นว่าเป็นการประพฤติผิดต่อ พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรม พ.ศ.2562 และเข้าข่ายประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้บริหารตามข้อบังคับ ม.ร.ว่าด้วยจรรยาบรรณข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้าง ม.ร.รวมถึง ผิด พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ประเด็นนี้ กรรมการสภา ม.ร.ทำหนังสือสอบถามคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ป.ป.ช.มีหนังสือตอบมาแล้วว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ผศ.ดร.สืบพงษ์กล่าวต่อว่า 2.การใช้คุณวุฒิปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ.มาสมัครเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ ม.ร.จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ไม่มีฐานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมาแต่แรก และแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ขาดจริยธรรม ประเด็นนี้ ก.พ.ระบุไว้ในเว็บไซต์ชัดเจนว่าปริญญาบัตรจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่จะใช้สมัครงานราชการได้ จะต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากรัฐบาล หรือสมาคมวิชาชีพในประเทศนั้น สำนักงาน ก.พ.ไม่ได้เป็นผู้รับรองวิทยฐานะประเทศต่างๆ ได้ให้ความร่วมมือโดยส่งข้อมูลให้กระทรวงต่างประเทศของไทย 2 แบบคือ 1.รายชื่อสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ และ/หรือ 2.เว็บไซต์สำหรับใช้ค้นหาสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ หากไม่พบรายชื่อสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่ต้องการ โปรดติดต่อหน่วยงานรัฐบาลของประเทศนั้นด้วยตัวท่านเอง เพื่อขอหนังสือรับรองวิทยฐานะ

“ทั้งนี้ ผมเข้าทำงานเป็นอาจารย์ตั้งแต่ปี 2554 ไม่ได้เพิ่งเข้ามาทำงาน และเป็นการเข้ามาตามระบบ ดังนั้น จึงไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนแรก ยืนยันว่าวุฒิการศึกษาของผมถูกต้อง และได้รับการรับรองจากประเทศต้นทาง สาเหตุที่ตรวจสอบไม่พบสาขาวิชาดังกล่าว เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ปิดหลักสูตรดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น เมื่อตรวจสอบย้อนหลังจึงไม่พบ แต่ผมเคยให้เอกสารไปแล้ว ว่าหลักสูตรดังกล่าวถูกรับรองในช่วงที่เรียนอยู่” ผศ.ดร.สืบพงษ์กล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.สืบพงษ์กล่าวต่อว่า และ 3.ตนได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการกระทำที่ขาดไร้จริยธรรม และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงด้วยสาเหตุดังกล่าว ซึ่งการประชุมครั้งนั้นมีมติถอดถอนอธิการบดี และแต่งตั้งนายบุญชาลรักษาการอธิการบดี ม.ร.โดยมีอุปนายกสภา ม.ร.ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภา ม.ร.ลงนามหนังสือแต่งตั้งดังกล่าว และได้เพิกถอนสัญญาจ้างเป็นพนักงาน ม.ร.ตามมา ตนจึงถวายฎีกาตามสิทธิของคนไทย เมื่อได้รับความไม่ยุติธรรม และการกล่าวหาว่าตนบิดเบือนข้อเท็จจริง สภา ม.ร.ไม่เคยถามรายละเอียด ส่วนที่ว่าฎีกาเท็จหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ของสภาในการตรวจสอบ

“หลังศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทราบว่าสภาได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ น่าจะนำคำสั่งศาลเสนอให้รับทราบ และภายหลังการประชุม สภามีหนังสือแจ้งมติถึงผมว่ากรณีที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว สภาไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เพราะได้บอกสัญญาเลิกจ้างไปแล้ว จึงไม่สามารถให้กลับเข้ารับตำแหน่งได้ อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าคำสั่งศาลถือว่าสูงสุด ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตลอดเวลาที่ถอดถอนผม ได้นั่งทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าเกิดจากมีผู้ร้องเรียนวุฒิการศึกษา ซึ่งไม่ระบุชื่อ และควรมองเป็นเพียงบัตรสนเท่ห์ แต่สภาใช้เรื่องนี้มาพิจารณา เป็นแบบนี้ตลอดเวลา 1 ปี ผมมองเจตนาของสภาไม่ออก และไม่เข้าใจว่าทำไมสภาไม่ทำตามกระบวนการ ผมเป็นอาจารย์ตั้งแต่ปี 2554 ทำไมไม่ตรวจสอบช่วงนั้น มหาวิทยาลัยที่ผมจบ เป็นมหาวิทยาลัยที่น้องๆ หลายคนไปเรียนมา แต่ไม่มีปัญหา การตรวจสอบวุฒิย้อนหลังยังกระทบถึงน้องๆ อาจารย์ที่ถูกตรวจสอบย้อนหลัง บางคนเอกสารไม่ครบ เช่น พาสต์ปอต ตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ เพราะผ่านมากว่า 10 ปี” ผศ.ดร.สืบพงษ์กล่าว

ผศ.ดร.สืบพงษ์กล่าวอีกว่า กรณีนี้ถือว่าทำให้เกิดความเสียหาย โดยการถอดถอนครั้งแรกภายหลังศาลมีคำสั่งคุ้มครอง ตนได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ต่อกรรมการสภา ม.ร.ทั้ง 16 ราย ครั้งนี้เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครอง จะยื่นฟ้องเช่นเดียวกัน

Advertisement

ด้านนายพรชัย เทพปัญญา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ร.กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ากรณีสภา ม.ร.ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยระบุว่าได้ยกเลิกสัญญาจ้าง ผศ.ดร.สืบพงษ์แล้วนั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะตำแหน่งอธิการบดี ไม่ใช่อาจารย์ บุคคลภายนอกสามารถทำหน้าที่ได้ ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จึงกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีได้ แม้ถูกยกเลิกสัญญาจ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเห็นศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี ดังนี้ กรณีสภามีมติถอดถอน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ออกจากตำแหน่ง ควรต้องให้โอกาสเจ้าตัวได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานของตน จึงเป็นการกระทำที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากมีมติพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไข ผศ.ดร.สืบพงษ์จะเสียโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี ม.ร.การทุเลาการบังคับของศาลในกรณีนี้ จะไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของมหาวิทยาลัย หรือแก่บริการสาธารณะ โดยการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีต้องเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ และของ ม.ร.โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภา

นอกจากนี้ ศาลยังมีความเห็นว่า การแต่งตั้ง ผศ.ดร.บุญชาล เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแก่ ผศ.ดร.สืบพงษ์ โดยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี อีกทั้ง ศาลเห็นว่า ผศ.ดร.สืบพงษ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีได้ต่อไป ศาลจึงมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ทุเลาการบังคับตามมติของสภา ม.ร.ที่ถอดถอน ผศ.ดร.สืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดี และแต่งตั้ง ผศ.ดร.บุญชาล เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.ร.รวมทั้ง ทุเลาการบังคับคำสั่งการถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่ง และการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image