ให้อำนาจจังหวัดจัดการศึกษาเอง ศธ.แค่วาง ‘หลักสูตร-ระเบียบกลาง-ครู’ แนะให้ ‘ศธจ.’ ถ่วงดุลเขตฯ งานบริหารบุคคล

อดีตประธาน กพฐ.แนะให้อำนาจจังหวัดจัดการศึกษาเอง ศธ.แค่วาง ‘หลักสูตร-ระเบียบกลาง-เกณฑ์ครู’ นักวิชาการเสนอ ‘ศธจ.’ ถ่วงดุลเขตพื้นที่ฯ ด้านงานบริหารบุคคล สกัดทุจริตแต่งตั้งโยกย้าย

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า กรณีที่นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งคณะทำงานกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ใหม่ หลังประกาศรายชื่อคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 เขตพื้นที่ฯ โดยการตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จะทำให้ภารกิจด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูฯ จากเดิมที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดูแล มาอยู่ที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ นั้น มองว่าช่วงที่ กศจ.ดูแลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่าการแต่งตั้งโยกย้ายค่อนข้างที่จะโปร่งใส แต่เมื่ออำนาจบริหารงานบุคคลไปอยู่ที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ก็ควรจะถอดบทเรียนที่ผ่านมา ว่าทำไมเมื่ออำนาจบริหารงานบุคคลไปอยู่ที่ กศจ.จึงไม่เกิดการทุจริตขึ้น

“ทั้งนี้ มองว่าควรจะกำหนดบทบาทหน้าที่ของ ศธจ.ไว้ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ว่า ศธจ.ควรมีหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล ให้การบริหารงานบุคคลมีธรรมาภิบาล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตเหมือนที่ผ่านมา ในส่วนของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ต้องถอดบทเรียนด้วย ว่าเหตุใดที่ผ่านมาถึงมีการโยกงานบริหารงานบุคคลไปที่ กศจ.” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า เมื่อการบริหารงานบุคคลกลับไปอยู่ที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ทำให้เกิดข้อครหาอย่างมาก ว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ดังนั้น ควรจะมีการตรวจสอบ ถ่วงดุล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้ไปลงพื้นที่ติดตามการศึกษาในจังหวัดต่างๆ พบว่า ศธจ.ทำหน้าที่ประสานงานบูรณาการทางวิชาการได้ดีอย่างมาก เพราะ ศธจ.ประสานงานทุกหน่วยงานในพื้นที่ ต่างจากเขตพื้นที่ฯ ที่บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานของตนเท่านั้น

“แม้จะดูเหมือน ศธจ.มีอำนาจหน้าที่ลดลง เพราะไม่ได้ดูงานบุคคลแล้ว แต่ ศธจ.จะต้องเพิ่มบทบาทหน้าที่ตนเอง โดยเน้นงานวิชาการ เน้นประสานงานกับหน่วยงานให้พื้นที่ให้ชัดเจน การติดตามและประเมินผล รวบรวมข้อมูลสารสนเทศในพื้นที่ของตนเชื่อมโยงกับกระทรวงต่างๆ ได้ และทำผลงานเชิงประจักษ์ให้เห็น ซึ่งจะทำให้พื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างมาก” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ศธจ.ควรจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ ศธ.ที่กำกับดูแลการศึกษาของจังหวัด ให้เป็นไปตามทิศทางที่ ศธ.กำหนด และให้เป็นไปในทิศทางที่จังหวัดนั้นๆ ต้องการ แต่ตนมองว่าถึงเวลาหรือยัง ที่จะให้จังหวัดบริหารจัดการศึกษาของตัวเอง โดย ศธ.อาจจะเริ่มกระจายอำนาจให้กับจังหวัดบริหารจัดการศึกษา คือให้ ศธจ.และเขตพื้นที่ฯ ขึ้นอยู่กับจังหวัด ไม่ต้องขึ้นอยู่กับ ศธ.อีกต่อไป โดย ศธ.อาจมีหน้าที่วางหลักสูตร และระเบียบแกนกลาง ส่วนการเติบโตของครู ก็ไม่ควรให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มาพิจารณาเห็นชอบกำหนดเกณฑ์ทั้งประเทศ แต่ควรกำหนดเกณฑ์กลางขึ้นมากว้างๆ เพื่อให้พี้นที่เป็นคนกำหนดให้สอดคล้องกับบริบทของตน

“ศธ.อาจกระจายอำนาจให้กับจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น เป็นต้น ถ้ากระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการศึกษาของตนได้ จะทำให้แต่ละจังหวัดสามารถสร้างนักเรียนที่มีจุดเด่นตามบริบทของจังหวัด ถ้าทำได้ คุณภาพการศึกษาของประเทศดีขึ้นได้แน่นอน” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image