‘ตรีนุช’ แจง สกสค. ใช้เงินช.พ.ค.-ช.พ.ส.จัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ยันโปร่งใส-ตรวจสอบได้

‘ตรีนุช’ แจง สกสค. ใช้เงินช.พ.ค.-ช.พ.ส.จัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ยันโปร่งใส-ตรวจสอบได้

น.ส. ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการใช้เงินของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 100 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอาจจะไม่ถูกต้อง นั้น ตนได้มอบหมายให้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ. รักษาการเลขาธิการ สกสค.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว และนายพิเชฐ ได้รายงานเบื้องต้นว่า การอนุมัติใช้วงเงินดังกล่าว เป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามเป้าหมาย เพราะ สกสค.เป็นหน่วยงานในกำกับของศธ. มีภารกิจในการส่งเสริมสวัสดิการ สวัสดิภาพ สิทธิประโยชน์เกื้อกูลและความมั่นคง ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติครูและบุคลาการทางการศึกษา เพื่อให้ครูฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูก็เป็นนโยบายรัฐบาล นโยบายศธ. ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้เสนอโครงการมาขอสนับสนุนงบประมาณจาก สกสค. และ สกสค.ได้วิเคราะห์ทั้ง 2 กิจกรรมแล้ว   เห็นว่ามีเป้าหมายที่ตรงกัน ครูจะได้รับประโยชน์จริง จะมีผลดีทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ทาง สกสค.ได้วิเคราะห์ว่าโครงการที่เสนอมาสอดคล้องกับภารกิจของ สกสค. สอดคล้องนโยบายกระทรวง และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เป็นไปตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 62 และตามข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.และ ช.พ.ส. พ.ศ. 2565 ประกอบกับเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลัก และมีเอกภาพในการบังคับบัญชาหน่วยงานด้านการศึกษาทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน มีการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ทุกจังหวัด และลงไปถึงระดับเขตพื้นที่การศึกษา และ สกสค. มีภารกิจในการจัดสวัสดิการ สวัสดิภาพ แก่ครูฯ จึงเห็นสมควรบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อคุณภาพชีวิตครูฯ อันจะส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ดังนั้น สกสค.จึงเสนอโครงการในร่างแผนปฏิบัติการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ต่อคณะกรรมการ สกสค.และได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจากคณะกรรมการฯ โดยมี 2 กิจกรรม ดังนี้ 1. การอบรมพัฒนาครูฯ เพื่อสร้างวินัยทางการเงินสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2. อุดหนุนกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ภายใต้โครงการการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life ” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า การส่งเสริมสนับสนุนสวัสดิการ และสวัสดิภาพครู การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และบอร์ด สกสค.อนุมัติให้ดำเนินโครงการ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเลย

“ ในการดำเนินโครงการ สกสค. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ เพื่อทำหน้าที่กำกับ ติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งขณะนี้การอบรมพัฒนาครูฯ อยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) ขอบเขตของงาน หรือ TOR ของคณะกรรมการ ซึ่งมีองค์ประกอบ จากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อครูฯ ส่วนการอุดหนุนกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯภายใต้โครงการการ      จัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า สป.ศธ.ได้จัดทำแผนการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวเสนอ สกสค.แล้ว ซึ่งดิฉันได้กำชับไปว่าในการดำเนินงานตามโครงการนี้ทั้ง 2 กิจกรรม ขอให้ดำเนินการอย่างถูกต้อง คุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้” น.ส.ตรีนุช กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image