ซัดรัฐบาล 4 ปี ไม่เหลียวแล ร.ร.เอกชน นายกฯ เมืองคอนสุดทน ชวนครูเอกชน 3.5 แสน เทคะแนนให้พรรคที่พร้อมช่วย

นายกสมาคม ร.ร.เอกชนเปิดผลสำรวจ ผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอม 3-4 พันล.ทำเจ็บหนักต้องทยอยปิดกิจการ ซัดรัฐบาล 4 ปี ไม่เคยเหลียวแล เมินช่วยค่าอาหารกลางวัน 100% ปล่อยโรงเรียนเคว้งท่ามกลางวิกฤตโควิด ด้านผู้บริหารเอกชนเมืองคอนสุดทน รณรงค์ครูเอกชนกว่า 3.5 แสนคน ลงคะแนนพรรคที่มีนโยบายช่วยโรงเรียนเอกชน ดัดหลัง ‘รัฐบาล-รมต.ศธ.’ ไม่สนใจ ปล่อยโรงเรียนดิ้นเอาตัวรอดเอง

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า กรณีกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านออนนุช ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) หลังโรงเรียนแจ้งปิดกิจการล่วงหน้าเพียง 14 วัน ทำให้ผู้ปกครองได้รับผลกระทบ ไม่สามารถหาที่เรียนให้บุตรหลานได้ทัน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 10,000-30,000 บาท ทั้งค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนปรับพื้นฐาน ค่าเรียนซัมเมอร์นั้น เชื่อว่า สช.จะดำเนินการช่วยเหลือ และหาทางออกต่อไป ทั้งนี้ เห็นว่าทางโรงเรียนแจ้งผู้ปกครองกระชั้นชิดเกินไป เพราะตามที่กฎหมายกำหนด โรงเรียนจะต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบล่วงหน้าก่อน 120 วัน

“เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ของโรงเรียนเอกชนในปัจจุบัน ว่าอยู่ในสภาวะขาดทุนหรือไม่ ผมมองว่าโรงเรียนเอกชนทุกแห่งเจ็บ และได้รับผลกระทบหนัก ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แล้ว เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย โรงเรียนเอกชนทุกแห่งค่อยๆ ฟื้นตัว แต่โรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะโรงเรียนจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงเรียนเอกชนในต่างจังหวัด ประกอบกับผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอมจำนวนมาก ทำให้โรงเรียนอาจจะไปต่อไม่ได้” ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าว

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ส.ปส.กช.ได้สำรวจโรงเรียนเอกชนว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรบ้าง ส่วนใหญ่พบว่าโรงเรียนจะเจอปัญหาผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอม โดยพบผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอมมากถึง 2-3 พันล้านบาท ที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนพยายามบริหารจัดการเรื่องนี้ เช่น ให้ผู้ปกครองจ่ายค่าเทอมครึ่งหนึ่ง บางแห่งถึงกับยกค่าเทอมให้ผู้ปกครอง เป็นต้น ซึ่งยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา ครูก็อาจจะได้เงินเดือนไม่เต็มจำนวน แต่โรงเรียนต้องพยายามรักษาตนเองให้อยู่รอด โรงเรียนบางแห่งต้องหาแหล่งเงินกู้ แม้ที่ผ่านมา สช.ให้โรงเรียนเอกชนยื่นกู้กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ โดยให้กู้ได้สูงสุดรายละ 3 ล้านบาท แต่บางโรงเรียนไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปีการศึกษา 2565 โรงเรียนสามารถเปิดได้ปกติ และหารายได้ด้วยตนเอง ทำให้โรงเรียนมีเงินที่มาบริหารจัดการ และเปิดต่อไปได้

Advertisement

“ตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด รัฐบาลไม่ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเลย ที่ผ่านมาจะช่วยเหลือผู้ปกครอง เช่น คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมาตรการช่วยเหลือผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.และนอก ศธ.ทั้งภาครัฐ และเอกชน ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้น ม.6 และอาชีวศึกษาทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยจ่ายผ่านสถานศึกษา และให้สถานศึกษาจ่ายตรงให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครอง เมื่อผู้ปกครองได้รับเงิน บางคนเอาไปจ่ายเป็นค่าเทอมให้โรงเรียน แต่บางคนนำไปใช้จ่ายส่วนตัว ขณะที่โรงเรียนเอกชน ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย” ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าว

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนเรียกร้องขอเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันนักเรียน 100% ก็ไม่เคยได้ ในขณะที่นักเรียนต่างชาติที่เรียนในโรงเรียนรัฐ กลับได้รับเงินอุดหนุน 100% อยากถามว่า 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเคยช่วยเหลืออะไรโรงเรียนเอกชนไปแล้วบ้าง ตนอยากให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา เข้าใจใหม่ว่าโรงเรียนเอกชนช่วยจัดการศึกษาให้กับประเทศ และรัฐบาลต้องหาทางช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนด้วย

ด้าน ดร.ณัฐวุฒิ ภารพบ นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนครศรีธรรมราช กล่าวว่า กรณีของโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านอ่อนนุชปิดกิจการนั้น มองว่าโรงเรียนอาจประสบปัญหาขาดทุนมานาน แต่การแจ้งปิดกิจการควรแจ้งให้ผู้ปกครองทราบล่วงหน้าก่อน 120 วัน ซึ่งปัญหานี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่เคยสนใจใยดีโรงเรียนเอกชนเลย ที่ผ่านมา 4 ปี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กี่คนแล้ว ซึ่งทุกคนแทบไม่สนใจใยดีโรงเรียนเอกชนเลย แต่เมื่อเจอปัญหา โรงเรียนเอกชนต้องช่วยเหลือดูแลดิ้นรนกันเองทั้งนั้น

Advertisement

ดร.ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า หลังจากรัฐบาลชุดนี้ประกาศยุบสภา จะรอดูนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ หากพรรคไหนที่มีนโยบายช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน ส่งเสริมสวัสดิการครูเอกชน หรือมีนโยบายผลักดันเงินอุดหนุนอาหารกลางวันให้นักเรียนโรงเรียนเอกชน จากเดิมที่ได้รับ 28% ให้ได้รับ 100% ตนจะรณรงค์ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน ที่มีกว่า 350,000 คน ให้เลือกพรรคที่มีนโยบายช่วยเหลือครูเอกชนในบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 ซึ่งเป็นบัตรเลือกพรรค ให้ลงคะแนนสำหรับพรรคการเมือง ที่ใช้คิดหาสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ส่วนบัตรใบที่ 1 ที่เป็นบัตรเลือก ส.ส.เขต ให้ประชาชนได้ลงคะแนนเลือกบุคคลตามการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเลือกตามใจชอบ

“ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเลย เราต้องดิ้นรนหาทางรอดกันเอง ขณะนี้ทราบว่ามีโรงเรียนเอกชนบางแห่งไปไม่รอด อย่างใน จ.นครศรีธรรมราช ผมทราบว่ามีโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง แจ้งผู้ปกครองแล้วว่าปีการศึกษาหน้าขอให้ผู้ปกครองหาที่เรียนให้ลูกใหม่ เพราะโรงเรียนจะปิดแล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้ว โรงเรียนเอกชนถือเป็นการจัดการศึกษาที่ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล จัดการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ” ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image