สดช.จับมือ มธบ.ยกเครื่อง จัดทำร่างแนวทางหนุนคนพิการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

สดช.จับมือ มธบ.ยกเครื่อง จัดทำร่างแนวทางหนุนคนพิการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดงาน “จัดประชุมระดมความคิดเห็นการจัดทำ (ร่าง) แนวทาง กลไก และรูปแบบการให้บริการ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้กำหนดยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนให้คนไทยได้เข้าถึงดิจิทัลอย่างเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเดิมกระทรวงดีอีเอสมีกฎกระทรวงในการดูแลคนพิการให้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัลในรูปแบบให้ และให้ยืม ซึ่ง สดช.มองว่าการซื้ออุปกรณ์มาคงคลังไว้ และรอให้ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ประสานให้คนพิการมายื่นขอสื่ออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้อุปกรณ์ที่ซื้อมาเก่า และไม่ทันสมัย

“การทำงานรูปแบบเดิม รอให้คนพิการมายืม ยังไม่ครอบคลุม และไม่ทันท่วงที สดช.จึงได้จัดทำร่างดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การส่งเสริม และสนับสนุนให้คนพิการเข้าถึงดิจิทัลได้จริง และปรับกฎกระทรวง แต่การปรับย่อมมีขั้นตอน มีกระบวนการ รับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะใช้เวลากว่า 1 ปี จึงจะเห็นร่างชัดเจน ดังนั้น นอกจากสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ การปรับกฎกระทรวงแล้ว สดช.มีแนวทางพัฒนาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ในการประเมินเว็บไซต์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน WCAG ทุกคนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ และร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแอพพลิเคชั่น โดยนำบัตรดิจิทัลสำหรับคนพิการมาเชื่อมให้คนพิการเข้าถึงดิจิทัลโดยใช้จุดบริการเพียงจุดเดียว โดยมุ่งหวังการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ” นายภุชพงค์ กล่าว

Advertisement

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า มธบ.เข้ามาช่วย สดช.จัดทำร่างแนวทาง จากการศึกษา รวบรวม วิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ พบว่าประเทศที่มีการส่งเสริมคนพิการที่ดี ส่วนใหญ่ล้วนมีแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนคนพิการในรูปแบบของการให้ ทั้งการให้เงินอุดหนุน และให้อุปกรณ์ โดยสรุปได้ 4 แนวทาง ดังนี้ 1.การให้อุปกรณ์ 2.การสนับสนุนเงินช่วยเหลือ 3.การสนับสนุนคูปอง และ 4.การให้เงินกู้ยืม ซึ่งแต่ละวิธีนั้นมีจุดเด่น และจุดแตกต่างกันออกไป

“CITE เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้ง ความร่วมมือจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ ทำให้พร้อมทั้งกระบวนการ และกลไกการนำองค์ความรู้มาช่วยพัฒนากลไก และเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะคนพิการให้เท่าเทียมกับคนปกติ และคนพิการในต่างประเทศ เพราะคนพิการไทยมีปัญหาทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยี อุปกรณ์ และบริการ รวมถึง ข่าวสารของภาครัฐ ที่ปัจจุบันล้วนอยู่ในโลกดิจิทัล เว็บไซต์ส่วนใหญ่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น เน้นความสวยงาม แต่ไม่ได้เน้นการเข้าถึงของคนเข้าใช้บริการ หลังได้ข้อสรุปแนวทางแล้ว โครงการนี้จะนำไปทดลองกระบวนการให้บริการแก่คนพิการทุกประเภท 150 คน เพื่อประเมินว่าเหมาะสมสำหรับคนพิการ ก่อนจะนำเสนอปรับกฎกระทรวงต่อไป โดยเชื่อมั่นว่าแนวทางที่กำลังผลักดันอยู่นี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการแน่นอน” ดร.ชัยพร กล่าว

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวว่า ปัญหาในการเข้าถึงเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือของคนพิการนั้น จะเป็นเรื่องแพลตฟอร์ม เนื้อหา และบุคลากร เพราะเป็นการจัดทำเว็บไซต์ หรือสื่อ ที่ไม่ได้นึกถึงทุกคน หรือ For all ขณะเดียวกันระบบการศึกษาที่สอนคนพิการ โดยเฉพาะผู้พิการทางการได้ยิน ยังมีปัญหาอย่างมาก ยิ่งโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเสียง ดังนั้น การจัดทำร่างดังกล่าว ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่มีมาตรฐานออกมาบังคับ ว่าแพลตฟอร์ม และเนื้อหา ต้องเป็นอย่างไร และต้องมีบุคลากรที่เพียงพอในการจัดทำเว็บไซต์ สื่อดิจิทัลที่รองรับทุกคน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image