นโยบาย ‘การศึกษา’ เรื่องใหญ่ที่ ‘พรรคการเมือง’ เมิน ??

นโยบาย ‘การศึกษา’ เรื่องใหญ่ที่ ‘พรรคการเมือง’ เมิน ??

หมายเหตุ… เรียกว่าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ หลายพรรคเดินสายหาเสียง เปิดนโยบายของพรรค ที่ส่วนใหญ่จะเน้นโยบายด้านเศรษฐกิจ และการเมือง เป็นหลัก ขณะที่นโยบายด้าน “การศึกษา” กลับถูกพูดถึงน้อยมาก “มติชน” จึงสอบถามความคิดเห็นคนในแวดวงการศึกษา ถึงนโยบายการศึกษา และเรื่องที่อยากเห็นในรัฐบาลใหม่

๐ ดร.ประเสริฐ กลิ่นชู
ผู้อำนวยการ อี.เทค./ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.)

Advertisement

“หลายรัฐบาลจะบอกว่า ให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับงบประมาณมากที่สุด แต่งบที่ได้ส่วนใหญ่ ถูกนำไปใช้เป็นเงินเดือนบุคคลากร ส่วนงบพัฒนาก็จะทุ่มลงไปที่สถานศึกษาของภาครัฐเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นงบซ่อมสร้างอาคารสถานที่ เงินอุดหนุนรายหัว และงบพัฒนาในเรื่องอื่นๆ

ถึงจะบอกว่าให้ความสำคัญกับเอกชนที่เข้ามาช่วยรัฐจัดการศึกษา แต่การอุดหนุนงบพัฒนากลับได้รับไม่เท่าเทียม เช่น งบอุดหนุนรายหัว ซึ่งสถานศึกษาเอกชนเรียกร้องให้อุดหนุน 100% เท่ากับสถานศึกษารัฐ แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา แม้จะขอมาหลายปี ก็ยังไม่ได้รับ

ดังนั้น ส่วนตัวไม่คาดหวังอะไรมากกับพรรคการเมือง เพราะพอเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็คงไม่ได้ตามที่ขอ แต่ก็อยากให้ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กำหนดสัดส่วนผู้เรียนสายสามัญ ต่อสายอาชีวะ อยู่ที่ 50:50 หรือ 60:40 ตั้งแต่ปี 2560 เพราะจนถึงวันนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ สาเหตุเพราะผู้กำหนดทิศทางการดำเนินการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ฉะนั้น ก็จะเอื้อประโยชน์ให้กับสถานศึกษารัฐก่อน ทำให้สถานศึกษาเอกชนไม่ได้รับภาคเป็นธรรมเท่าที่ควร”

Advertisement

๐ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ
นักวิชาการด้านการศึกษา

“มองว่าแต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการศึกษาน้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายที่เกี่ยวกับการศึกษาทำยาก ต้องใช้เวลานาน อย่างไรก็ตาม 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายการศึกษาที่ทำให้ประเทศเสียเวลาอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะกฎหมายการศึกษา ที่ผลักดันไม่สำเร็จ เป็นตัวบ่งบอกว่าถ้าไม่มีนโยบายที่ดี ไม่มีนโยบายที่เข้มแข็ง และไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มุ่งมั่น จะทำให้ปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว

ทั้งนี้ เท่าที่ดูนโยบายการศึกษาของแต่ละพรรค จืดชืด เป็นนโยบายหาเช้ากินค่ำ ไม่หนักแน่น เป็นนโยบายชั่วครั้งชั่วคราว ส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ยังไม่มีนโยบายไหนที่มุ่งประโยชน์แก่ผู้เรียน ส่วนใหญ่จะหาเสียงกับครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งสิ้น สาเหตุที่พรรคการเมืองไม่นิยมนำนโยบายเรื่องการศึกษามาหาเสียง เพราะเป็นเรื่องยาก และการศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ประชานิยมที่จะนำมาหาเสียงได้ ขณะที่แต่ละพรรคก็ไม่มีแกนหลักด้านการศึกษา ดังนั้น จึงประกาศนโยบายเรื่องนี้มาค่อนข้างน้อย ที่ประกาศมาส่วนใหญ่ เป็นเรื่องเดิม ไม่พัฒนา ไม่มีอะไรที่เป็นความหวัง ที่ทำให้การศึกษาของประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลง

ผมอยากเห็นความชัดเจนในการผลักดันการศึกษาจากรัฐบาลชุดใหม่ อยากให้รัฐบาลชุดใหม่นำ 8 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นบทเรียน เพื่อจัดทำนโยบายแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศ โดยจะต้องประกาศให้ชัดเจนว่าแต่ละเรื่องจะดำเนินการอย่างไร เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ยังค้างอยู่ในสภา จะเดินหน้าต่อ หรือจะปัดตก และทำใหม่ แนวทางการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปที่สถานศึกษา เป็นต้น

นอกจากนโยบายการศึกษาที่ชัดเจนแล้ว ยังต้องมองเป้าหมายของประเทศ คือจะพัฒนาเด็กอย่างไร ให้เป็นพลเมืองที่มีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักสิทธิ และหน้าที่ เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ

ขอให้พรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาล วางคนที่จะมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ศธ.และวางผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้ดี โดยต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ เข้าใจการศึกษา สามารถแก้ไขปัญหาได้ อย่าวางคนตามโควต้าการเมือง และให้ใครก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เหมือนที่ผ่านมา”

๐ ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์
อธิการบดี มรภ.นครราชสีมา

“เป้าหมายของคนที่เข้าสู่สนามเลือกตั้ง จะมุ่งเน้นไปที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ปากท้องเป็นหลัก เพราะทำให้ได้คะแนนเสียง ขณะที่นโยบายด้านการศึกษา ไม่สามารถทำคะแนนเสียงในการเลือกตั้งได้มากนัก นโยบายการศึกษาของแต่ละพรรค จึงไม่ค่อยมีความชัดเจน เน้นนโยบายประชานิยม

อย่างพรรคพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เน้นแจกของฟรี ทั้งเรียนฟรีถึงปริญญาตรี โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน ฟรีอินเตอน์เน็ท 1 ล้านโรงเรียนทั่วประเทศ เป็นต้น

ส่วนพรรคเพื่อไทย สะท้อนประชานิยม ทั้งเงินตอบแทนปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาทต่อเดือนแล้ว สายอาชีพมีรายได้ ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าฝึกงานจริงตามสายอาชีพ ให้เรียนไปทำงานไป มีรายได้ 6,000 บาทขึ้นไป

ขณะที่แม้แต่ก้าวไกลเอง ก็ยังไม่โดดเด่น ทั้งเรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง โรงเรียนโปร่งใส ปราศจากทุจริต ส้วมสะอาด อาคารสถานที่ปลอดภัย ซึมเศร้ามีที่ปรึกษา กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันทียกเลิกตั้งแถว ใช้เวลาอัพเดตเหตุการณ์บ้านเมือง ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง ชั่วโมงเรียนดีมีคุณภาพ ลดคาบเรียน ลดการบ้าน ลดการสอบ โรงเรียน 2 ภาษา นักเรียนพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นต้น

ดังนั้น จึงอยากเห็นพรรคการเมืองประกาศนโยบายทางการศึกษาที่ไม่ใช่ประชานิยม เป็นนโยบายเชิงโครงสร้าง ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญอยากเห็นการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่สังคมโลกยุคใหม่ เพราะขณะนี้การศึกษาถูกดิสรัปชั่นอย่างรุนแรง

ต้องมีการรีสกิล อัพสกิลคน ซึ่งไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนในระบบการศึกษา ที่ต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพเช่นเดียวกัน ต่อไปประชาชนต้องได้รับการศึกษา ที่เป็นการเรียนรู้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่อยากฝากนักการเมืองให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ แม้จะมีผลต่อคะแนนเสียงน้อย แต่ก็เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพราะการจะปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ ต้องใช้นโยบายการศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image