ชี้คุรุสภาลักลั่นให้สอบเฉพาะ ‘ใบครู’ หลัง ‘ผู้บริหาร-ศึกษานิเทศก์’ ไม่ต้องทดสอบ

ชี้คุรุสภาลักลั่นให้สอบเฉพาะ ‘ใบครู’ หลัง ‘ผู้บริหาร-ศึกษานิเทศก์’ ไม่ต้องทดสอบ ‘เอกชัย’ หนุน 7 โมดูล ช่วยกลุ่มไร้ตั๋วมีทางเลือก

รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า กรณีคุรุสภาจัดทำหลักสูตรอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูสำหรับผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว จำนวน 7 โมดูล เพื่อให้ผู้ได้รับยกเว้นมีมาตรฐานความรู้วิชาชีพ และเป็นคุณสมบัติให้ผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษากลุ่มนี้ ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยจะเปิดอบรมในหลักสูตร 7 โมดูล ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ รวม 420 ชั่วโมงนั้น มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้คนกลุ่มนี้มีทางเลือก ไม่จำเป็นต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต เหมือนที่ผ่านมา

รศ.ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ารับการอบรม 7 โมดูล ตามที่คุรุสภากำหนด สามารถเทียบความรู้ และผ่านการรับรองความรู้จนได้รับ P-License สามารถไปปฏิบัติหน้าที่ครูในสถานศึกษารัฐ และเอกชนได้ อีกทั้ง สามารถเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพื่อขอรับ B-License ต่อไปได้ แต่คำถามที่ตามมาคือ เมื่อคนเหล่านี้สอบ B-License ไม่ผ่าน จะได้รับการยกเว้นผ่อนผันขอต่อ P-License ได้อีกหรือไม่ เพราะถ้าคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการยกเว้นผ่อนผัน ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนคือโรงเรียน ที่อาจไม่มีครูสอนนักเรียน ซึ่งหมายความว่าต่อไป การยกเว้นผ่อนผัน จะไม่มีลิมิตเวลาใช่หรือไม่ มองว่าหากจะให้คนกลุ่มนี้ได้รับการยกเว้นผ่อนผัน ควรกำหนดว่าจะต้องสอบวิชาความเป็นครูให้ผ่านก่อน ถึงจะได้รับการผ่อนผัน เพราะถ้าให้ยกเว้นผ่อนผันเลย จะมั่นใจอย่างไรว่าคนกลุ่มนี้เข้าใจวิชาชีพ และมีจิตวิทยาความเป็นครู

“ผมมองว่าคุรุสภายังไม่ได้มองภาพรวมทั้งหมด ว่าจะมีปัญหาอะไรตามมาบ้าง ไม่ควรคิดอะไรเป็นท่อนๆ และค่อยๆ แก้ปัญหา นอกจากนี้ ผมมองว่าที่คุรุสภาออกข้อบังคับว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565 โดยต่อไปใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 4 ประเภท คือ 1.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา 3.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และ 4.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มีนาคมนี้ แต่ในข้อบังคับกลับกำหนดว่า ผู้ที่ต้องการรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะต้องเข้ารับทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูเท่านั้น ในขณะที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ (ศน.) กลับไม่ต้องทดสอบใดๆ เพื่อขอรับใบอนุญาต ถือเป็นความลักลั่นหรือไม่ คุรุสภาซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมวิชาชีพ ควรจะมีความเป็นธรรมทั้งระบบ ควรจะจัดทดสอบทั้งหมด เพราะอาชีพเหล่านี้ถือเป็นวิชาชีพควบคุม” รศ.ดร.เอกชัยกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image