518 น.ร.เอกชนอ่อนนุชได้ที่เรียนแล้ว สช.จี้ผู้บริหารเร่ง ‘ชดเชยครู-เยียวยาพ่อแม่’ คาด 3 ด.ปิดถาวร

518 น.ร.เอกชนอ่อนนุชได้ที่เรียนแล้ว สช.จี้ผู้บริหารเร่ง ‘ชดเชยครู-เยียวยาพ่อแม่’ คาด 3 เดือนปิดกิจการถาวร-ตั้งผู้ชำระบัญชี

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกับผู้แทนโรงเรียนนราทร ย่านอ่อนนุช กรุงเทพฯ ถึงแนวทางการช่วยเหลือครู และผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รวบรวมข้อมูลโรงเรียนโดยรอบทั้งหมด เพื่อให้โรงเรียนรู้ว่าถ้านักเรียนจะย้ายไปเรียนในโรงเรียนเอกชนละแวกนั้น ผู้ปกครองจะเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าอื่นๆ เพิ่มอีกเท่าไหร่ เพื่อให้คณะกรรมการบริหารโรงเรียนนราทร รับทราบถึงภาระที่ผู้ปกครองได้รับผลกระทบ และนำข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาจ่ายค่าเยียวยาให้ผู้ปกครองต่อไป

“ทั้งนี้ สช.ได้ขอความร่วมมือให้โรงเรียนสำรวจติดตามนักเรียนทั้งหมด 555 คน ว่านักเรียนทุกคนมีที่เรียนต่อหรือไม่ โดยโรงเรียนรายงานว่านักเรียน 518 คน มีที่เรียนต่อแน่นอนแล้ว เหลืออีก 37 คน ที่ยังไม่สามารถติดต่อขอข้อมูลจากผู้ปกครองได้ ซึ่งในจำนวนนี้ เด็กอาจมีที่เรียนแล้วก็ได้” นายมณฑล กล่าว

นายมณฑลกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สช.ยังไม่อนุญาตให้โรงเรียนนราทรปิดกิจการ เพราะโรงเรียนต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องส่งหลักฐานการศึกษาให้ครบถ้วน และต้องยืนยันว่าจ่ายเงินชดเชยให้ครูครบถ้วนก่อน สช.ถึงจะพิจารณาอนุญาตให้ปิดกิจการ แต่ขณะนี้ถือว่าโรงเรียนแห่งนี้ปิดไปโดยปริยายแล้ว เพราะในปีการศึกษา 2566 โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ เนื่องจากไม่มีนักเรียนเข้ามาเรียนแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ถึงจะดำเนินการปิดกิจการโรงเรียนนราทรแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม แม้โรงเรียนจะปิดกิจการแล้ว ยังต้องตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้นมา เพื่อมาดูเรื่องทรัพย์สินหากมีกรณีร้องเรียนเกิดขึ้น ทั้งนี้ สช.กำชับผู้แทนโรงเรียนนราทร ว่าจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ครูผู้สอน หาที่เรียนใหม่ให้ผู้เรียน รับผิดชอบให้ผู้เรียนทุกคนได้สอบ และจะต้องออกหลักฐานการศึกษาให้ผู้เรียนทุกคน

Advertisement

“สาเหตุการเลิกกิจการของโรงเรียนมีหลายสาเหตุ เช่น โรงเรียนขาดสภาพคล่อง หรืออาจเป็นเพราะเปลี่ยนผู้บริหาร โดยให้ทายาทรุ่นต่อไปเข้ามาบริหาร ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจเปลี่ยนแนวคิด ไม่อยากสู้ต่อเพื่อการศึกษา จึงตัดสินใจปิดกิจการ เป็นต้น ส่วนเรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นวิกฤตโรงเรียนเอกชนหรือไม่ มองว่าการจัดการศึกษาเอกชนไม่เหมือนกับรัฐ รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน กำกับดูแล กำหนดนโยบาย ส่วนผู้ที่รับผิดชอบจัดการศึกษาคือโรงเรียนเอกชน เป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่สามารถก้าวล่วงการบริหารของโรงเรียนได้ ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นธรรมชาติของระบบการศึกษาเอกชน เพราะถ้าบริหารความเสี่ยงให้ดี ก็จะจัดการศึกษาต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ในปีการศึกษา 2565 มีโรงเรียนแจ้งปิดกิจการกับ สช. 45 แห่ง แต่มีโรงเรียนมาแจ้งเปิดกิจการ 35 แห่ง” นายมณฑล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image