26 มีนา 106 ปี ‘จุฬาฯ’ เปิดห้องเรียนยุคแรกๆ ก่อน พ.ศ.2500 (ภาพชุด)

ซ้าย-บรรยากาศในห้องเรียน ในช่วงก่อน พ.ศ. 2500 (ภาพจากเฟซบุ๊ก อภินิหารตำนาน "จุฬาฯ" ขวา-แบบอาคารหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

วันนี้ 26 มีนาคม ถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนา ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของสยามประเทศ

จุดกำเนิด มีที่มาจาก โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.2442 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ พ.ศ.2445 เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน

นักเรียนเก่าโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่มาในงานวงศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” แล้วพระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรได้เรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า กว่า 900,000 บาทให้สร้างอาคารเรียนและตึกบัญชาการบนที่ดินพระคลังข้างที่จำนวน 1,309 ไร่ ในอำเภอปทุมวัน โดยเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาพระฤกษ์ในการสร้างอาคารดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2458

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาทรงวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458

จากนั้น ทรงมีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น กล่าวคือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 โดยมีพระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก

Advertisement
พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก

ในช่วงแรกมีการเรียนการสอน 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แล้วขยายการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ สืบมาจนปัจจุบัน

ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของภาพอดีตอันงดงามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาอันเปี่ยมด้วยความทรงจำแสนอบอุ่นผ่านภาพถ่ายที่บันทึกเรื่องราวมากมายในกว่า 1 ศตวรรษที่ผ่านพ้น

เมื่อแรกสร้าง “ตึกเทวาลัย” ซึ่งเรียกว่า “ตึกบัญชาการ” ถือเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร “อักษรศาสตร์ 1” และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “อาคารมหาจุฬาลงกรณ์” (ภาพจากหนังสือ ร้อยเรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาฯ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558)
ถนนด้านหน้าตึกบัญชาการ
กลุ่มอาคารเดิมของคณะครุศาสตร์ ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง คือ อาคารครุศาสตร์ 1 (พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา) สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2501, อาคารครุศาสตร์ 2 สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2501, อาคารครุศาสตร์ 3 สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2506 (ภาพและข้อมูลจากเพจ อภินิหารตำนาน “จุฬาฯ”
นิสิตจุฬาฯ ไม่ทราบ พ.ศ.
ตึกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ห้องนิสิตสัมพันธ์ ที่เหล่านิสิตจุฬาฯ ผูกพัน
อาคารเรียนหลังหนึ่งของคณะวิทยาศาตร์ เมื่อ พ.ศ.2509
แข่งรักบี้

Advertisement

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image