อ่านเรื่อง “พระธรรมนูญ” พร้อมระบบพิจารณาคดียุคอยุธยา ดร.รุ่งโรจน์เผยกฎหมายโบราณบันทึกปวศ.สังคม

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็น “วันรัฐธรรมนูญ” ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ได้เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายโบราณ ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ชื่อว่า “พระธรรมนูญ” โดยอธิบายว่าก่อนหน้าที่สยามประเทศจะมีการปรับปรุงระบบการศาลให้มีความทันสมัย(ในที่นี้หมายถึงเหมือนกับฝรั่งตะวันตก) กฎหมายสูงสุดหรือที่เราเรียกว่ารัฐธรรมนูญในปัจจุบันไม่มี  สำหรับพระธรรมนูญนั้น แม้มีชื่อคล้ายกับ “รัฐธรรมนูญ” แต่มีเนื้อหาสาระไม่เหมือนกัน

แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง

หลักฐานจากหน้าบานแพนก(คำนำ)ของกฎหมายพระธรรมนูญกล่าวกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในปี มหาศักราช 1555 เดือนเชษฐมาส(เดือน 7 ตามจันทรคติ)ตรงกับปี พ.ศ. 2176 แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีทั้งหมด 15 มาตรา

ในตอนต้นของกฎหมายพระธรรมนูญโบราณาจารย์ท่านได้ยกคาถาพระบาลีอธิบายที่มาของกฎหมายพระธรรมนูญ ที่ยกมาไม่ใช่ว่าจะมีกฎหมายฉบับนี้ในพระมนูธรรมศาสตร์หรือกฎหมายศักดิ์สิทธิตามอุดมคติ แต่ในบางครั้งก็เพื่อแสดงถึงความศักดิ์สิทธิที่ไม่อาจจะก้าวล่วงได้ โดยเป็นระเบียบที่ว่าด้วยจำแนกคดีความทั้งปวงไปประทับฟ้องให้ถูกต้องตามหน่วยงาน

ส่วนที่มาความหมายของชื่อกฎหมายนั้น คำว่า “ธรรมนูญ” มาจากศัพท์คำว่า “ธมฺมนุญฺโญ” ในภาษาบาลี หมายถึง “สิ่งที่รู้ๆ กันทั่วไป”

Advertisement

ระบบพิจารณาคดียุคอยุธยา-รัตนโกสินทร์ก่อนปฏิรูปศาล

ระบบพิจารณาคดีในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนการปฎิรูปการศาลนั้น ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่เมื่อเกิดคดีความฟ้องร้องกันขึ้นเขาจะไปประทับฟ้องกันที่ศาลชั้นต้น แต่ในอดีต เมื่อเกิดคดีความใดๆ ผู้เดือดฟ้องร้องจะต้องไปประทับฟ้องที่หน่วยงานของราชการตามแต่ประเภทของคดี เช่นคดีความที่เกี่ยวข้องกับที่ดินที่นาก็ต้องไปที่กรมนาเพื่อประทับฟ้อง แต่ถ้าเป็นคดีความเกี่ยวกับภาษีอากรต่างๆ ก็ต้องไปที่กรมคลังเป็นต้น

เมื่อหน่วยที่เราไปประทับฟ้องท่านรับเรื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านจะเรียกคู่กรณีมาสืบสวนไต่ถามหาพยานไปตามเรื่องตามราว สุดท้ายก็จะรวบรวมสำนวนการสอบสวนไปที่ ลูกขุน ศาลหลวง เพื่อตัดสินระวางโทษต่างๆ ดังนั้นถ้าเทียบกับปัจจุบันหน่วยงานที่รับประทับฟ้องนั้นดูไปดูมาก็เหมือนกับสำนักอัยการด้วย

แต่ทีนี้มันก็มีปัญหาอยู่ตรงที่ว่าคดีความสมัยหลัง (ในที่นี้ก็ประมาณรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) คงจะมีมากมายและคงจะมีบางครั้งที่มีการจำแนกคดีไปประทับฟ้องผิดพลาด ดังนั้นจึงจำเป็นที่การตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นเพื่อเป็นระเบียบแบบแผนในการจำแนกคดีความทั้งปวง

Advertisement

ต่อมาปรากฏว่าใน เดือนอาสุชมาส(เข้าใจว่าตรงกับเดือนอัสสยุชมาศคือเดือน 11 ตามจันทรคติ)ของปีเดียวกันสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็โปรดให้เพิ่มมาตราในกฎหมายฉบับนี้อีก 30 มาตรา เนื้อหาในส่วนหลังเป็นส่วนที่ว่าด้วยดวงตราประเภทต่างของหน่วยงานราชการ

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

ในอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาและบรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายแทบจะไม่เคยพบผู้บังคับบัญชาระดับเจ้ากรมและเสนาบดี คำสั่งๆ รวมถึงการติดต่อไปมาทางราชการนั้นจะใช้หมายจากเสนาบดีและเจ้ากรม ทีนี้มันก็มีปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ในอดีตก่อนที่เราจะรับเอาวัฒนธรรมการเซ็นชื่อเพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นสำเนาคำสั่งของจริงจึงจำเป็นที่จะต้องประทับตราเป็นเครื่องหมายสำคัญ โดยที่ดวงตราเหล่านี้จะแกะเป็นรูปต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเทพปกรณัม(เทพนิยาย)ของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์

ทีนี้เสนาบดีบางตำแหน่งหน้าที่การรับผิดชอบสูงมากเช่นตำแหน่งสมุหกลาโหม(เทียบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมปัจจุบัน) และสมุหนายก(เทียบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน) ดวงที่ถือก็มีมากดวงยกตัวอย่าง บางหน่วยงานก็มีน้อยดวงเช่น

ตราหณุมานแผลงฤทธ พญาศรีราชเดโชไชยอไภยพิริยบรกรมภาหุ ได้ใช้ไปตั้งขุนพลณหัวเมืองเอกโทตรีหัวเมืองเลกแต่ฝ่ายขวาตราพญาศรีราชเดโชได้ใช้แต่เท่านี้ (คัดตามต้นฉบับ)

เข้าใจว่าบางทีท่านเองก็อาจจะสับสนว่าคำสั่งเรื่องใดแล้วคงจะประทับตราผิดดวง ผลจึงต้องทำให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองต้องกฎหมายพระธรรมนูญนี้ขึ้น

“พระธรรมนูญ” กับ “รัฐธรรมนูญ”

ถ้าจะกล่าวโดยสรุปคือ กฎหมายพระธรรมนูญเหมือนกฎหมายที่ว่างานสารบรรณของระบบศาลและระบบการปกครอง ดังนั้นความของคำว่า “ธรรมนูญ” คือเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไป ก็คือเรื่องที่รู้กันในหมู่ของขุนนางและมูลนาย

ดังนั้นจึงไม่ทราบได้ว่า คำว่า “รัฐธรรมนูญ” หรือกฎหมายสูงสุดในการบริหารประเทศที่เราแปลมาจากคำว่า Constitution จะตรงกับความหมายเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปของรัฐ ซึ่งคำว่ารัฐในที่นี้ก็มีปัญหาว่าจะแปลว่าอะไร ถ้าแปลว่ารัฐคือประชาชน ผมว่าคงจะไม่จริงเพราะประชาชนเกินกว่าในสังคมไม่รู้จักรัฐธรรมนูญ

กฎหมายพระธรรมนูญ บางท่านอาจจะมองว่าไม่สำคัญ แต่แท้จริงแล้วสำคัญ ทั้งนี้เพราะเราจะสามารถมองภาพระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หน่วยงานไหนมีหน้าที่ขอบเขตเท่าใด อย่างน้อยก็ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเรื่อยลงมาได้ ดังนั้นนักประวัติศาสตร์ นักวรรณคดี และนักโบราณคดีจึงไม่ควรละเลยกฎหมายโบราณทั้งปวง

ถามว่า กฎหมายตราสามดวง(กฎหมายโบราณ)กับพระราชพงศาวดารต่างกันอย่างไร  ?

พระราชพงศาวดารคือเรื่องของสงครามและประวัติองค์อวตาร พูดง่ายๆ คือ พระราชพงศาวดารเป็นประวัติศาสตร์ราชวงศ์ ส่วนกฎหมายตราสามดวงคือเรื่องเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคมทุกระดับชั้นเป็นสิ่งที่พระราชพงศาวดารไม่กล่าวถึงหรืออีกอย่างก็คือ กฎหมายตราสามดวงก็เป็นบันทึกประวัติศาสตร์สังคมนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image