เสียงจาก ‘ครูท้องถิ่น’ มองนโยบายพรรค ‘ด้านการศึกษา’

เสียงจากครูท้องถิ่น มองนโยบายพรรค ‘ด้านการศึกษา’

  • ครูชี้พรรคการเมืองไม่เน้นนโยบายด้านการศึกษา

นายปริญญา ประจง อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อกคศ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ สพป.นครราชสีมา เขต 6 กล่าวว่า พรรคการเมืองไม่พูดถึงนโยบายด้านการศึกษามากนัก ส่วนใหญ่เน้นนโยบายประชานิยม ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการศึกษาน้อยมาก ทั้งที่ควรเป็นนโยบายหลัก

นโยบายด้านการศึกษาเด่นๆ ของพรรคต่างๆ เช่น นโยบายโรงเรียนสองภาษาในทุกท้องถิ่นของพรรคเพื่อไทย, นมโรงเรียนฟรี 365 วันของพรรคประชาธิปัตย์, เรียนฟรีจนจบปริญญาตรีของพรรคเสรีรวมไทย, นโยบายออกแบบหลักสูตรใหม่เน้นทักษะที่ใช้ได้จริงของพรรคก้าวไกล และสร้างเด็กไทย 3 ภาษาของพรรคชาติพัฒนากล้า ยังไม่ตอบโจทย์บริบทการศึกษาไทยเท่าที่ควร โดยเฉพาะบริบทสังคมไทยในภาคอีสาน ซึ่งโรงเรียนในชนบทมีนักเรียนลดลงเรื่อยๆ เป็นผลสืบเนื่องจากการวางโครงสร้างการบริหารไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโรงเรียน

ปริญญา ประจง

อยากให้มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาคุณภาพดีๆ ประจำตำบล อย่างน้อย 1 โรงเรียนในทุกตำบลที่มีคุณภาพเทียบเท่าโรงเรียนในตัวเมือง ขอให้กระทรวงศึกษาธิการลดการอบรมสัมมนาด้านวิชาการลง เพื่อให้ครูมีเวลาสอนนักเรียนมากขึ้น และประเมินครูจากคุณภาพการศึกษาของนักเรียนมากกว่าประเมินจากคุณภาพด้านวิชาการ

Advertisement

สุดท้ายอยากเห็นนโยบายสร้างงานให้บัณฑิตจบใหม่ให้ชัดเจนมากขึ้น ทุกวันนี้ส่งเสริมให้เรียนฟรีกันส่งเดช แต่เรียนจบออกไปไม่มีงานรองรับ ถ้าเรียนจบแล้วมีงานทำ ต่อให้ไม่เรียนฟรี ต้องเสียค่าเรียนเขาก็จะหาวิธีเรียนจนจบให้ได้แน่นอน เพราะรู้ว่าเรียนจบแล้วมีงานทำมีเงินใช้

  • ไม่มีพรรคไหนมีนโยบายการศึกษาโดดเด่น

นายประสิทธิ์ ชูดวง รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา เชียงใหม่ กล่าวว่า ยังไม่มีพรรคไหนชูนโยบายการเด่นชัด ส่วนใหญ่เป็นนโยบายเชิงรัฐสวัสดิการ แต่เข้าไม่ถึงผู้เรียนมากนัก นโยบายการศึกษาควรมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะงบอุดหนุนรายหัวของโรงเรียนเอกชนที่รัฐอุดหนุนเพียง 350-400 บาท/คน น้อยกว่าโรงเรียนรัฐบาลหลายเท่าตัว ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำคุณภาพการศึกษา รัฐควรอุดหนุนงบรายหัวโรงเรียนเอกชนเท่ากับโรงเรียนรัฐบาล เพื่อยกระดับการศึกษาให้ทัดเทียมกัน

ประสิทธิ์ ชูดวง

3-4 ปี ที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนในเชียงใหม่ปิดกิจการแล้ว 3-4 แห่ง เนื่องจากขาดสภาพคล่อง และได้รับเงินอุดหนุนน้อย ถ้าชูนโยบายเรียนฟรี เริ่มจากอนุบาลจนถึงปริญญาตรี โดยให้ผู้ปกครองสมทบบางส่วน หรือน้อยที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว พร้อมสนับสนุนด้านวิชาการและวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อฝึกทักษะด้านวิชาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เรียนจบสามารถทำงานได้ทันที นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยเร็ว นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีศึกษาบ่อย ทำให้การพัฒนาการศึกษาไม่ต่อเนื่อง รัฐบาลต้องสรรหาบุคคลที่เชี่ยวชาญมาเป็นรัฐมนตรีการศึกษาโดยตรง ไม่ใช่มาจากโควต้าพรรคการเมือง หรือบุคคลใกล้ชิดรัฐบาลเท่านั้น

Advertisement

ส่วนตัวแล้วชอบนโยบายการศึกษา พรรคก้าวไกล มุ่งเน้นการศึกษาก้าวทันโลก โรงเรียนสองภาษาพูดอังกฤษ โฮมสคูล และคูปองโรงเรียน โดยลดเวลาเรียนหรือวิชาการฝึกปฏิบัติมากขึ้น เพื่อให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้าน นำไปใช้ทำงานได้จริง สามารถตอบโจทย์ผู้เรียนได้ตรงจุด

  • อยากเห็นกระจายอำนาจการศึกษาให้ท้องถิ่น

นายวุฒิไกร วรรณการ ผู้อำนวยการโรงเรียนสารภีพิทยาคม อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า มีข้อเสนอแนะ ควรจัดการศึกษารูปแบบใหม่ โดยกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นหรือสถานศึกษาบริหารจัดการศึกษาภายใต้บริบท และศักยภาพสถานศึกษาแต่ละแห่ง เนื่องจากมีความแตกต่างเรื่องพื้นที่และเป้าหมายคุณภาพการศึกษาต่างกัน รัฐบาลใหม่ ต้องส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาเชิงพื้นที่ ให้สอดคล้องเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตชุมชน และทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ภายใต้ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมผู้ปกครอง ชุมชน และท้องถิ่น เชื่อประสบความสำเร็จได้

วุฒิไกร วรรณการ

ส่วนนโยบายการศึกษาต้องวางรากฐานต่อเนื่อง โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางพัฒนา รัฐมนตรีต้องจริงจัง ทำจริง ขับเคลื่อนนโยบาย ไปสู่รูปธรรมมากที่สุด ภายใต้งบประมาณที่จำกัด การศึกษายุคใหม่ ต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ มาช่วยส่งเสริมสนับสนุนทางด้านวิชาการและฝึกปฏิบัติมากขึ้น อยากให้ดูแลสวัสดิการบุคลากรทางการศึกษาเพื่อกระตุ้นและสร้างขวัญกำลังใจด้วย

  • ขอแก้เหลื่อมล้ำทางการศึกษาใต้

นายอดินันท์ หวังพิทยา อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และเลขานุการ สหพันธ์กีฬาฟุตบอลโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาภาคใต้ (IFC) อดีตครูโรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา จ.ปัตตานี กล่าวว่า ครูใต้ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พึงพอใจนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่ ซึ่งมีพรรคเดียวที่นำเสนอเรื่องการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ พรรคประชาชาติ มีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนของรัฐ ในพื้นที่มีนักเรียนเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามประมาณ 4 แสนคน แต่เรียนในโรงเรียนของรัฐแค่ 2 แสนคน ซึ่งโรงเรียนของรัฐได้รับเงินอุดหนุนรวมทุกอย่างคนละ 50,000 กว่าบาท แต่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามได้แค่ 15,000 บาท

อดินันท์ หวังพิทยา

พรรคประชาชาติต้องการลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ จะช่วยดึงศักยภาพนักเรียน 4 แสนคนให้สูงขึ้น โดยใช้องค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยในพื้นที่มาช่วย พร้อมสนับสนุนงบประมาณให้ใกล้เคียงโรงเรียนของรัฐ จะทำให้ครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมีเงินค่าตอบแทนสูงขึ้นตามไปด้วย

ส่วนนโยบายด้านการศึกษาทั่วไปในภาพรวม พึงพอใจนโยบายของพรรคเพื่อไทย เช่น ภายในปี 2570 กระจายอำนาจการศึกษาอย่างประเทศที่เจริญ มีโรงเรียนสองภาษาในทุกท้องถิ่น สอนภาษาต่างประเทศตั้งแต่ ป.1 จัดการเรียนในรูปแบบห้องเรียนและออนไลน์ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แบบ TCDC และ TK Park ให้ครบทุกจังหวัด เงินเดือนของบัณฑิตจบใหม่ระดับปริญญาตรีเริ่มต้น 25,000 บาทขึ้นไป ใช้ Soft Power จัดอบรมฟรีเพื่อพัฒนาศักยภาพอย่างน้อย 1 คนในครอบครัวจนโดดเด่นและจะสนับสนุนทุนฝึกอบรมต่อในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม อยากให้พรรคการเมืองเพิ่มนโยบาย แก้ปัญหาหนี้สินของครูทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ควรยกระดับคุณภาพของครูอย่างเป็นระบบและจริงจัง แก้ปัญหาหนี้ กยศ. ควรยกเลิกดอกเบี้ยให้จ่ายต้นไปก่อน และเลิกเงินกู้ตั้งเป็นเงินยืมเหมือนประเทศอื่นๆ

อีกเรื่องที่สำคัญ คือ แก้ปัญหาการเทียบวุฒิการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาชายแดนใต้ที่จบการศึกษาจากประเทศอียิปต์ อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย แต่หางานทำไม่ได้ เนื่องจากหลักสูตรไม่ตรงกัน เพื่อดึงศักยภาพจะทำประโยชน์ได้มากเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image