รายงานการศึกษา : ‘Happy U’ ม.หอการค้าไทย ‘ฟัง’ และ ‘เข้าใจ’ เด็ก Gen.Z

รายงานการศึกษา : ‘Happy U’ ม.หอการค้าไทย ‘ฟัง’ และ ‘เข้าใจ’ เด็ก Gen.Z

สังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต การเรียน การทำงาน เศรษฐกิจ การเมือง ค่านิยม และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ทุกคนเกิดความเครียดได้

ผลสำรวจ “โครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย” พบว่า นิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยมีความเครียดสะสมเพิ่มมากขึ้น เกือบร้อยละ 40 เครียดบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา และกว่าร้อยละ 4 เคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา

ด้วยแนวคิด Student Centered Learning ของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) ทุกพื้นที่ต้องเชื่อมต่อไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ตอบโจทย์ของนักศึกษา โดยปี 2565 ได้รีโนเวทพื้นที่แห่งการเรียนรู้ครั้งใหม่ ให้กลายเป็น Lifestyle & Learning Space สำหรับเด็กหัวการค้า ปรับมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แห่งความสุข

Advertisement

ช่วงต้นปี 2566 ได้สำรวจความสุขของนักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า นักศึกษารู้สึกว่าตัวเองมีความสุข มีค่าเฉลี่ย 8.41 จาก 10 คะแนนเต็ม และเมื่อผ่านพ้นสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เล่าว่า ช่วงการแพร่ระบาด ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอน ที่เน้นการเรียนออนไลน์ ทำให้นักศึกษาไม่ได้ทำกิจกรรม หรือใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง นักศึกษาทยอยกลับมาเรียนปกติ พบว่าส่วนใหญ่ชอบใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

Advertisement

ดร.มานะกล่าวอีกว่า สภามหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มีนโยบาย Happy U ให้โจทย์ว่าต้องทำให้นักศึกษามีความสุข อยากใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง รวมถึง ลองนำแนวคิด Happy Model ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันสิ่งดีๆ สู่ Happy U ของมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องการให้นักศึกษามีความสุข สิ่งแรกที่ดำเนินการ คือสอบถามความคิดเห็น รับฟังสิ่งที่นักศึกษาต้องการ พบว่า นักศึกษาอยากให้มหาวิทยาลัยมี อาทิ การติดกระจกเพื่อจะได้ใช้ซ้อมเต้น ซึ่งลงทุนไม่มาก แต่สร้างความสุขให้นักศึกษาได้มหาศาล

“โลกเปลี่ยนแปลงไป ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจรับฟัง และทำความเข้าใจกับเด็กรุ่นใหม่ให้มากขึ้น หลายๆ อย่างสะท้อนจากการสำรวจ จากการพูดคุยกับเด็กรุ่นใหม่ เราพบว่าจุดเล็กๆ ก็สร้างความสุขให้พวกเขาได้ แต่เรามักมองข้าม เช่น นักศึกษาที่ถนัดซ้าย อยากได้โต๊ะเลคเชอร์สำหรับคนถนัดซ้าย นักศึกษา Oversize อยากได้โต๊ะที่เหมาะกับพวกเขา หรือแม้แต่นักศึกษากลุ่ม LGBTQ ที่ต้องการห้องน้ำที่ไม่ระบุเพศ จึงได้สร้างห้องน้ำ All Gender” ดร.มานะ กล่าว

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังให้อิสระในการแต่งตัว ทำสีผม รวมทั้ง ให้สนอในสิ่งที่อยากทำ โดยกิจกรรมจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่นักศึกษาเสนอแล้วอยากทำ และอีกกลุ่มจะเป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยต้องการให้เด็กมีทักษะ แต่จะไม่บังคับให้เข้าร่วมสภามหาวิทยาลัยยังเน้นย้ำให้นักศึกษาทุกคนที่จบ ต้องทำงานเป็น ฉะนั้น นักศึกษาไม่ได้เก่งแค่ทฤษฎี แต่ต้องลงมือปฎิบัติ และไม่ใช่มีเพียง Hard Skills แต่ต้องมี Soft Skills ด้วย ถือเป็นการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเรื่อง Empathy หรือการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

มหาวิทยาลัยยังร่วมกับธนาคารจิตอาสา จัดโปรเจกต์ “Human Library” หรือ “อ่านมนุษย์” มุ่งเน้นพัฒนาทักษะด้าน Empathy โดยฝึกอบรมเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างของมนุษย์ ชวนผู้ที่มีความหลากหลายมาจับคู่นั่งคุย เพื่อให้เข้าใจกันได้เต็มที่ พบว่านักศึกษาที่เข้าร่วม เปิดใจยอมรับ เข้าใจมุมมอง และมีความสุขในเชิงร่างกาย จิตใจ และเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

“หลายครั้งที่ผู้ใหญ่มองว่าสิ่งที่ตนเองทำ ทำเพื่อความสุข เพื่อการเจริญเติบโตที่ดีของเด็ก แต่ความเป็นจริง สิ่งที่ดีสำหรับเด็ก ต้องรับฟังในสิ่งที่เขากำลังสื่อสาร มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข ความสบายใจแก่พวกเขา เพราะสังคมข้างนอกเต็มไปด้วยวิกฤต อบายมุขมากมาย ล้วนทำให้เด็กเครียด โดยมีนักจิตวิทยา ได้อบรมทำความเข้าใจกับผู้บริหาร คณาจารย์ ในการรับฟัง เข้าใจความคิด ความแตกต่างระหว่างเด็กรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า” ดร.มานะ กล่าว

เพราะเด็กรุ่นนี้ ต้องการความเข้าใจ ไม่ได้มองเรื่องถูกผิดแบบคนรุ่นเก่า มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัว ให้นักศึกษาได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ให้พวกเขาลองผิดลองถูก เพราะนอกรั้วมหาวิทยาลัย อาจไม่มีผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ คอยให้คำแนะนำ ประสบการณ์ตลอด 4 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัย จะฝึกให้เขาแกร่ง เดินตามความฝัน และเติมเต็มความสุขให้แก่ตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image