ซีอีโอชั้นนำของไทย รับลูก อว.ใช้งานวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันเศรษฐกิจไทย

ซีอีโอชั้นนำของไทย รับลูก อว.ใช้งานวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันเศรษฐกิจไทย

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อว.กับความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการผลักดันเศรษฐกิจไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในงาน “บพข.สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 หรือ PMUC Research for Thailand’s Competitiveness 2023” จัดโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) อว.ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าไทยยังเป็นประเทศที่ยากจน จริงๆ ไทยเป็นประเทศมีรายได้ปานกลางระดับบน และจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580 ซึ่งหลายๆ หน่วยงาน รวมถึง อว.จะร่วมขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

“ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของไทยใหญ่ติดอันดับ 24 ของโลก และใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และยังเป็นจุดที่เชื่อมโยงไปยังเอเชียตะวันออก ทำให้เมื่ออาเซียนรวมกับจีน และอินเดียแล้ว จะมีขนาดเศรษฐกิจถึง 1 ใน 3 ของโลก และเติบโตอย่างต่อเนื่อง การที่ไทยอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นเลิศ จะเป็นแรงเสริมทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสูงยิ่งขึ้น ซึ่งจากการดำเนินงานของ บพข.ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แสดงให้เห็นความสามารถของนักวิจัยไทยในยามวิกฤต มีการเปลี่ยนแปลงหลักการคิดจากเดิมที่เคยแต่ซื้อเทคโนโลยี มาเป็นพัฒนาได้เอง” ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าว

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อ “The CEO views: Thailand Competitiveness, Achievement through Research and Innovation” ว่า ระบบนิเวศนวัตกรรม ต้องเป็นนโยบายแห่งชาติ ต้องเป็นการทำงานร่วมมือกันแบบไม่มีเงื่อนไข ไร้ขอบเขต ไม่มีข้อจำกัด และต้องอยากช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดความเชื่อมโยง ที่สำคัญต้องมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ การสร้างระบบนิเวศจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องงานวิจัยที่ต้องมองตลาดเป็นหลัก และเมื่อนักวิจัยทำสำเร็จแล้วไม่จำเป็นต้องรอเอกชนเข้ามา แต่ควรจะมีเวที หรือแพลตฟอร์มให้ผู้วิจัยและผู้ใช้งานวิจัยได้มีพบกัน

Advertisement

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ทั้งเรื่องดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น สงครามเทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมระดับโลกที่มาจากภายนอกประเทศ ส่วนความท้าทายที่มาจากภายในประเทศ คือ การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการที่ประเทศไทยอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานาน ซึ่งตัวเลขปี 2565 เป็นปีแรกที่อัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราผู้เสียชีวิต เรียกได้ว่าไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความท้าทาย เพราะสิ่งนี้ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกำลังลดลง ประกอบกับในปี 2565 ไอเอ็มดีได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง 5 อันดับ จากอันดับที่ 28 ในปี2564 เป็นอันดับที่ 33 ในปี 2565 นี่คือสิ่งที่ชี้ชัดว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยควรที่จะรีบพัฒนา

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจนี้มาเกือบ 50 ปี มีการแข่งขันในตลาดโลก ทำให้ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ตลอดเวล าต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยบริษัทตัดสินใจลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมเมื่อปี 2557 ปัจจุบันมีนักวิจัยกว่า 100 คน และมีแพลตฟอร์มให้นักวิจัยร่วมมือกันในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ซึ่งความท้าทายของอุตสาหกรรมนี้ คือผลกระทบจากการเกิดสงครามที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่างๆ สูงขึ้น ซึ่งจะต้องดูว่าจะเอานวัตกรรมเข้ามาช่วยได้อย่างไร

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของการทำนวัตกรรม คือจากเดิมบริษัทจะทำนวัตกรรมเพื่อใช้เอง หรือตอบโจทย์สินค้า แต่ปัจจุบันสินค้าทุกอย่างในอนาคตต้องตอบโจทย์ใน 2 เรื่องคือ Low Waste และ Low Carbon ซึ่งเอสซีจีบุกเบิกเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน และพยายามทำอย่างเต็มที่ มีการเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็น Low Carbon มากที่สุด จากฟอสซิลให้เป็นวัสดุชีวภาพ และที่ถือว่าเป็นนิวฟรอนเทียร์ สำหรับเอสซีจีคือการเอาคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ ซึ่งในอนาคตสิ่งที่เราผลิตออกไปอาจจะเป็นสิ่งที่ GREEN ที่สุด

Advertisement

นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าทีมขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS NEXT บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสโดนดิสรัปเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีพาร์ทเนอร์มาช่วย มองว่าปัจจุบันทุกบริษัทจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต และเมื่อเห็นเทรนด์ที่จะทำกับธุรกิจของตนเองแล้ว บางเทคโนโลยีอาจจะสร้างเอง หรือถ้าต้องการอย่างรวดเร็วก็คือการซื้อมาใช้ แต่ท้ายที่สุดแล้วอย่าทำเองคนเดียวทั้งหมด ให้ใช้ความเป็นพาร์ทเนอร์ชิฟกับภาครัฐและภาคเอกชนให้มากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image