กาง (ร่าง) หลักเกณฑ์พัฒนา ก่อนแต่งตั้ง วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ

กาง (ร่าง) หลักเกณฑ์พัฒนา ก่อนแต่งตั้ง วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ

หมายเหตุ – ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มีนายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติเห็นชอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญ และน่าสนใจ ดังนี้

เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 80 ได้กำหนดให้มีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งและบางวิทยฐานะ ต่อมาได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะฯ ตาม ว 3/2564 โดยกำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษเพียงวิทยฐานะเดียวที่ต้องผ่านการประเมินและต้องผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด จึงได้มีการกำหนด (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งสาระสำคัญของ (ร่าง) หลักเกณฑ์ฯ มีดังนี้

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการพัฒนา

Advertisement

1.ดำรงวิทยฐานะเชี่ยวชาญมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี กรณีดำรงตำแหน่งครู ผู้อำนวยการ สถานศึกษา และศึกษานิเทศก์

2.ดำรงวิทยฐานะเชี่ยวชาญมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี กรณีดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.จังหวัด/กทม. และ ผอ.สช.จังหวัด

รูปแบบการพัฒนา

Advertisement

1.จัดทำข้อเสนอในการพัฒนาที่สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลง (Create an impact) ในตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ตามแบบที่ ก.ค.ศ.กำหนด

2.พัฒนาโดยใช้วิธี Project-based Development โดยมี Coach ที่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญ มีความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และขับเคลื่อนการพัฒนาจนบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนา ซึ่งผู้เข้ารับการพัฒนาสามารถเสนอชื่อ Coach ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ได้ หาก Coach ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สามารถขอเปลี่ยน Coach ได้

3.ระยะเวลาในการพัฒนา ไม่น้อยกว่า 4 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน หากยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนา สามารถขยายเวลาการพัฒนาได้

4.ให้มีคณะกรรมการประเมินผลการพัฒนา ประเมินจาก 2 รายการ ได้แก่ 1.คุณภาพของงาน และ 2.ประโยชน์ของงาน ซึ่งผู้เข้ารับการพัฒนาต้องมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์เป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการ กรณีที่ไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถปรับข้อเสนอและขยายเวลาการพัฒนาได้ โดยการประเมินไม่กำหนดค่าคะแนน เนื่องจากเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนา

ผลการพัฒนา

นำไปใช้ในการแต่งตั้งได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ผ่านการพัฒนา

กรณีเปลี่ยนตำแหน่ง

กรณีเปลี่ยนตำแหน่งและผ่านการพัฒนาในตำแหน่งเดิมตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้แล้ว สามารถนำผลการพัฒนาที่ยังไม่หมดอายุไปใช้ในการแต่งตั้งได้ ทั้งนี้ ต้องไม่ก่อนวันที่ได้รับการอนุมัติให้เลื่อนวิทยฐานะ และไม่ก่อนวันที่ผ่านการพัฒนา

นอกจากนี้ ยังอนุมัติการปรับเกณฑ์การตัดสินตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ตาม ว 9-ว 11/2564

ตามที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ตาม ว 9-ว 11 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 และเปิดระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal : DPA) ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยื่นคำขอผ่านระบบ DPA ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปนั้น สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้พิจารณาแล้วมีความเห็น ดังนี้

เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการประเภทอื่น ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน ประเภทวิชาการ และคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งกำหนดขึ้นภายหลังจากที่หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 9-ว 11/2564 ใช้บังคับ พบว่าเกณฑ์การตัดสินตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 9-ว 11/2564 ที่กำหนดให้ต้องได้คะแนนจากกรรมการแต่ละคนผ่านเกณฑ์ มีความเหลื่อมล้ำกับเกณฑ์การตัดสินของข้าราชการพลเรือน/คณาจารย์ที่กำหนดเกณฑ์ผ่านโดยใช้เสียงข้างมาก ประกอบกับหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 9-ว 11/2564 เป็นการให้กรรมการประเมินได้มีการใช้ดุลพินิจทางวิชาการในการให้คะแนนตามตัวชี้วัดและเกณฑ์การให้คะแนน ตลอดจนให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลการประเมินตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดได้โดยอิสระผ่านระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (DPA) โดยไม่มีการประชุมคณะกรรมการ และกรรมการแต่ละคนจะไม่ทราบผลการประเมินของกรรมการคนอื่น

จึงมีความเป็นไปได้ที่ผลคะแนนของกรรมการแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันมาก อันเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการไม่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นเชิงวิชาการที่มีต่อผลงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ขอรับการประเมินร่วมกัน
ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเพื่อให้การประเมินมีมาตรฐาน ที่ใกล้เคียงกัน ก.ค.ศ.จึงได้พิจารณาอนุมัติ ดังนี้

1.ปรับปรุงเกณฑ์การตัดสินสำหรับการประเมินเฉพาะด้านที่ 1 และด้านที่ 2 ของตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ทุกวิทยฐานะ โดยกำหนดให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินต้องได้คะแนนผ่านเกณฑ์จากกรรมการไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 คน

2.เนื่องจากปัจจุบันได้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง พิจารณาผลการประเมินตามเกณฑ์การตัดสินเดิมและมีมติไม่อนุมัติ หรืออยู่ระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและส่วนราชการนำเสนอผลการประเมินต่อ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง ดังนั้น จึงเห็นควรกำหนดแนวปฏิบัติ ในการนำผลการประเมินที่ไม่ผ่านตามเกณฑ์การตัดสินเดิมมาพิจารณาใหม่ ดังนี้

2.1 กรณีที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือส่วนราชการได้แจ้งมติไม่อนุมัติไปแล้ว ให้ทบทวนผล การประเมินดังกล่าวแล้วแจ้งสำนักงาน ก.ค.ศ. เฉพาะกรณีมีผลการประเมินผ่านตามเกณฑ์การตัดสินใหม่ เพื่อปรับปรุงผลการประเมินในระบบ DPA และเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง แล้วแต่กรณีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

2.2 กรณีที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือส่วนราชการยังมิได้นำเสนอผลการประเมินที่ไม่ผ่าน ตามเกณฑ์การตัดสินเดิมต่อ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง ให้ทบทวนผล การประเมินตามเกณฑ์การตัดสินใหม่แล้วให้เสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.ตั้ง แล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image