นักวิชาการชง 8 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย หวังไทยเดินหน้าสัมพันธ์กับมหาอำนาจของโลก

นักวิชาการชง 8 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย หวังไทยเดินหน้าสัมพันธ์กับมหาอำนาจของโลก

ดร.สุธนี บิณฑสันต์ กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวในการเสวนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศไทย (Thailand International Relations Forum) หัวข้อ “นโยบายพรรคการเมืองกับความสัมพันธ์ประเทศมหาอำนาจ” จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) ร่วมกับสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และสถาบันการสร้างชาติ ว่า ประเทศมหาอำนาจสามารถเข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ ในโลกได้ทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งส่งผลทางบวก หรือทางลบก็ได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจนโยบายจุดยืนของไทย และความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ จะช่วยให้ไทยสามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติ พร้อมกับป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในทางลบได้

นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบยืดหยุ่น และรักษาดุลอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆ ทำให้ไทยรอดพ้นจากวิกฤตต่างๆ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่ความขัดแย้งของสองขั้วอำนาจที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย และรุนแรงมากขึ้น ระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน ทำให้ไทยก้าวสู่ความท้าทายที่ต้องรักษาสมดุล ดำเนินยุทธศาสตร์ และนโยบายอย่างรอบคอบ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุด และไม่ถูกบดขยี้จากสงครามในรูปแบบต่างๆ ระหว่างสองขั้วอำนาจนี้

นายทวีชัยกล่าวอีกว่า ขอนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเป็นข้อวิเคราะห์จาก ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนี้ 1.ไทยต้องเดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุก ขับเคลื่อนจุดแกร่งประเทศให้เป็นเมืองหลวง 4 ด้าน คือ เมืองหลวงอาหารโลกเพื่อดึงดูดการลงทุน เมืองหลวงท่องเที่ยวโลกเพื่อส่งเสริมด้านโลจิสติกส์ การค้า และการท่องเที่ยว เมืองหลวงสุขสภาพโลกเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และเมืองหลวงอภิบาลคนชราโลกเพื่อดึงดูดคนมาเกษียณในไทย

Advertisement

2.ยุทธศาสตร์ไทยเป็นดุมล้ออาเซียน และอาเซียนเป็นดุมล้อโลก เพื่ออาเซียนเป็นกลาง เข้าได้กับทุกฝ่าย มีขนาดใหญ่ และมีศักยภาพเติบโต โดยไทยร่วมมือกับ 5 ประเทศหลักๆ ในอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ และขับเคลื่อนอาเซียนเพื่อให้อาเซียนร่วมมือกับโลก 3.ยุทธศาสตร์การสร้างการแข่งขัน และการถ่วงดุลของมหาอำนาจ เช่น การเจรจาเปิดเสรีการค้า เปิดให้มีการยื่นข้อเสนอต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และพิจารณาดึงขั้วอำนาจขั้วที่สามเข้าสู่สมการถ่วงดุลอำนาจระหว่างประเทศอำนาจทั้งสองประเทศนี้

4.ยุทธศาสตร์หัวเข็มขัด คือการนำข้อได้เปรียบมาต่อรอง เช่นการต่อรองเรื่องเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนไปสิงคโปร์ ซึ่งเส้นทางรถไฟจะผ่านประเทศไทยเป็นระยะทางที่ยาวที่สุดและคุ้มค่าที่สุด จึงควรใช้ประเด็นนี้ในการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศจีนในการพัฒนา SEZ ลำดับที่ 7 5.ยุทธศาสตร์การแสวงหาโอกาสจากความขัดแย้ง เช่น ส่งเสริมการลงทุนจากอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานออกจากประเทศที่มีความขัดแย้ง เนื่องจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น ซึ่งจะสามารถดึงดูดคนรวย คนเก่งในประเทศที่มีสงครามหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามให้เข้ามาลงทุน ทำงาน หรือเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ เป็นต้น

6.ยุทธศาสตร์การรองรับความเสี่ยงจากความขัดแย้ง โดยเตรียมความพร้อมที่จะรองรับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ เช่น วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นจากการเสื่อมค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ วิกฤตสงคราม รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่ผ่านมา เป็นต้น 7.ยุทธศาสตร์การสร้างความสัมพันธ์ระดับบุคคล/องค์กร เพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นมากขึ้น ทั้งในระดับชนชั้นนำหรือระดับประชาชน เช่น การให้ทุนหรือขอทุนการศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศจีนมากยิ่งขึ้น การแลกเปลี่ยนบุคลากร การเชื่อมเครือข่ายคนไทยโพ้นทะเลที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกาหรือจีนให้เข้ามาเป็นเครือข่ายในการร่วมพัฒนาประเทศ รวมถึงการจับคู่เมืองพี่เมืองน้องระหว่างประเทศไทยกับประเทศมหาอำนาจ และ 8.ยุทธศาสตร์ความร่วมมือจัดการปัญหาข้ามพรมแดน โดยกำหนดมาตรการที่ชัดเจนเพื่อจัดการปัญหาเหล่านี้

Advertisement

“โลกกำลังก้าวเข้าสู่ขั้วอำนาจที่มีหลายขั้ว ขั้วอำนาจใหม่ และระเบียบโลกใหม่ จะกลายเป็นความท้าทายสำหรับมหาอำนาจเดิม และระเบียบโลกเดิม ความตึงเครียด และความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจที่เกิดขึ้น ทำให้ไทยจำเป็นต้องพิจารณาการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความพังทลายภายใต้เท้าของพญาช้างสารที่กำลังต่อสู้กันในปัจจุบัน” นายทวีชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image