มข.เซ็นบันทึกข้อตกลง อว.เดินหน้าเคลื่อน ‘ธัชวิทย์’ ปั้นบัณฑิตนักวิทย์ศักยภาพสูง

มข.เซ็นบันทึกข้อตกลง อว.เดินหน้าเคลื่อน ‘ธัชวิทย์’ ปั้นบัณฑิตนักวิทย์ศักยภาพสูง

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในพิธีเปิดตัว และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) ร่วมลงนาม มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ผู้บริหารกระทรวง อว. ผู้บริหารสถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชน เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ว่า ธัชวิทย์ เกิดจากความต้องการให้วิทยาศาสตร์ และวิทยาการของไทย ทำงานร่วมกัน นักวิทยาศาสตร์ไม่ควรทำงานแค่เฉพาะทาง ธัชวิทย์ต้องเป็น Think Tank ของประเทศ หากประเทศมีปัญหาที่ต้องการคำตอบ ธัชวิทย์ต้องเป็นหนึ่งในการตัดสินใจนั้น และเป็น virtual organization โดยไม่จำเป็นต้องสร้างหน่วยงานใหม่ แต่นำคนเก่งจากหลายสถาบันมารวมกัน พัฒนาเรื่องที่น่าสนใจ ให้มีความก้าวหน้าระดับโลก ต้องสร้างคนที่เหมาะสม พร้อมทำงานให้อุตสาหกรรม และสอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งต้องทำให้เร็ว ทำให้มาก จึงจะประสบความสำเร็จ

“ธัชวิทย์จะเป็นสูตรสำเร็จในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานใน อว.ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาชั้นนำ และหน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ สิ่งที่จะขอให้ธัชวิทย์ทำต่อจากนี้ คือทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก นอกจากนี้ อยากเสนอ 2 หลักสูตรให้ธัชวิทย์ร่วมกันทำขึ้น คือ 1.เรื่องการท่องเที่ยวของไทย เพราะไทยมีการท่องเที่ยวที่เป็นระดับมหาอำนาจของโลก จึงอยากให้ผลิตหลักสูตรด้านการท่องเที่ยว เป็นหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับโรงแรมของไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยให้ทำเป็นระดับปริญญาตรี และ 2.เด็กไทยที่สามารถสร้างผลงานจากการประกวดด้านวิทยาศาสตร์ ให้นำเด็กกลุ่มนี้มาศึกษาในสถาบันของธัชวิทย์ โดยที่ไม่เน้นเกรด แต่เน้นที่โครงงานการปฏิบัติ หาการเรียนการสอนที่มีความสนุกควบคู่ไปกับการเรียนจากการปฏิบัติ เพื่อรักษาความเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ปฏิบัติต่อไป” ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าว

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวถึงบทบาทของ มข.ในการเข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่า มข.มีความพร้อมสนับสนุนนโยบาย ธัชวิทย์ เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตนักวิทย์ศักยภาพสูงใน 4 สาขาได้แก่ สาขาวัสดุนาโนขั้นสูงในการกักเก็บคาร์บอน, สาขาชีวนวัตกรรมและอาหารแห่งอนาคต, สาขาสุขภาพส่วนบุคคลและปัญญาประดิษฐ์แห่งอนาคต และสาขาการศึกษาแห่งอนาคต ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากหลักสูตรเหล่านี้ จะได้บัณฑิตร่วมกับสถาบันวิจัย และเอกชนจำนวนไม่ต่ำกว่า 80 คน ในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า ก่อให้เกิดการยกระดับสถาบันวิจัย และภาคเอกชน ให้สามารถสร้างกำลังคนเพื่อการสร้าง GDP ให้ประเทศไทยโดยฐานเทคโนโลยีขั้นสูง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image