มรภ.สงขลา ปริวรรตเอกสารโบราณ ‘หนังสือบุด’ วิเคราะห์ภูมิปัญญาภาคใต้

มรภ.สงขลา ปริวรรตเอกสารโบราณ ‘หนังสือบุด’ วิเคราะห์ภูมิปัญญาภาคใต้

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สงขลา กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิด โครงการปริวรรตและศึกษาวิเคราะห์เอกสารโบราณประเภทหนังสือบุด “คัมภีร์ใบลาน” จัดโดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ว่า เพื่อให้เอกสารคัมภีร์โบราณประเภทหนังสือบุดได้ดำรงอยู่ในประเทศไทย ทำให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ชุมชน มีความเข้าใจในคัมภีร์โบราณ และได้มีข้อมูลในการศึกษาค้นคว้า คนรุ่นหลังได้อนุรักษ์ และเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมค้นคว้าภูมิปัญญาพื้นบ้านภาคใต้ พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ

รศ.ดร.ทัศนากล่าวอีกว่า คัมภีร์ใบลานเป็นเอกสารโบราณที่บันทึกเนื้อหาทางพระพุทธศาสนา ตำราเวชศาสตร์ หรือตำราโหราศาสตร์ ซึ่งคัมภีร์ใบลานจัดเป็นเอกสารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาของชาติ ด้วยอายุของคัมภีร์ใบลานที่มีความเก่าแก่ หากเก็บรักษาไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จะทำให้คัมภีร์ใบลานเหล่านั้นเสื่อมสภาพ หรือสูญหายไป ปัจจุบันในการปริวรรตหนังสือบุดมีน้อยมาก และยังประสบปัญหาด้านการเก็บรักษา ซึ่งมีการชำรุดเสียหาย หนังสือบุดจะมีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ เช่น ตำรายา พงศาวดาร วรรณกรรม พุทธศาสนา คาถา ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วิถีชุมชน ความศรัทธา ความเชื่อของคนในท้องถิ่น ซึ่งเอกสารเหล่านั้นยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลมากเท่าที่ควร จึงนำมาสู่การจัดทำโครงการในครั้งนี้

Advertisement

ผศ.ดร.บรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าวว่า ในภาคใต้มีการค้นพบคัมภีร์โบราณประเภทหนังสือบุด รวมทั้ง จารึกหลักธรรมที่มีอายุเก่าแก่ระยะเวลาใกล้เคียงกับภาคกลางซึ่งมากกว่า 1,000 ปี คัมภีร์ใบลานจัดเป็นเอกสารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาของชาติ แต่ปัจจุบันได้กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไป ถึงแม้จะมีอายุน้อยกว่าเอกสารโบราณประเภทจารึกก็ตาม แต่เนื่องจากอายุของคัมภีร์ใบลานนี้มีความเก่าแก่ หากเก็บรักษาไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จะทำให้คัมภีร์ใบลานเหล่านี้เสื่อมสภาพหรือสูญหายไป ที่สำคัญเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน และหนังสือบุด มักถูกทำลายด้วยฝีมือมนุษย์

“คัมภีร์ใบลานที่มีตามวัดต่างๆ มีจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถถ่ายไมโครฟิล์มได้อย่างชัดเจน ทำให้ข้อมูลชั้นต้นขาดความสมบูรณ์ ส่งผลให้ผลงานที่ออกมาขาดความสมบูรณ์ไปด้วย อีกทั้ง สูญหาย และไม่ได้จัดเก็บอย่างเป็นระบบ เอกสารใบลานเป็นหลักฐานทางวิชาการชั้นต้นที่มีความสำคัญทางวิชาการ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต วิถีชุมชน ความศรัทธา ความเชื่อของคนในท้องถิ่น เอกสารเหล่านี้ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลมากเท่าที่ควร จึงเป็นภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะบรรดาความรู้ ความคิดต่างๆ ที่ปรากฏในเอกสาร จะไม่ได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่อง สำนักศิลปะฯ จึงจัดทำโครงการนี้เพื่อปริวรรตเอกสารโบราณจากภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาไทยปัจจุบัน ศึกษาองค์ความรู้ที่ปรากฏในเอกสารโบราณประเภทหนังสือบุด และรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาพื้นบ้านจากเอกสารโบราณภาคใต้ เพื่อให้เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการได้” ผศ.ดร.บรรจง กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image