เลขาฯ สพฐ.ยอมรับข้อสอบครูผู้ช่วยยาก เพราะต้องคัดคนคุณภาพ เร่งวิเคราะห์สาเหตุ

เลขาฯ สพฐ.ยอมรับข้อสอบครูผู้ช่วยยาก เพราะต้องคัดคน เผยคลัสเตอร์ มรภ.อุบลฯ ผ่านไม่ถึง 5% เร่งวิเคราะห์หาสาเหตุ เปิดตัวเลขสอบครูผู้ช่วยปี’66 เกือบ 1.7 แสนราย สอบผ่าน 4.2 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ว่าข้อสอบยากเกินไป ทำให้บางเขตพื้นที่การศึกษาไม่มีผู้สอบผ่านในสาขาที่เปิดรับสมัคร ขณะเดียวกันยังแสดงความเห็นกรณีมอบหมายให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบตามกลุ่มจังหวัด ว่าอาจทำให้ข้อสอบมีมาตรฐานไม่เท่ากันนั้น การมอบหมายให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบตามกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 คลัสเตอร์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสอบแข่งขันที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด

“ทั้งนี้ เดิม สพฐ.กระจายอำนาจการจัดสอบลงไปที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นการจัดสอบครูผู้ช่วยครั้งแรก หลังมีการถ่ายโอนงานบริหารบุคคลจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กลับคืนมาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ดังนั้น จึงขอให้จัดสอบ และออกข้อสอบรวมเป็นคลัสเตอร์จังหวัด ซึ่งแต่ละคลัสเตอร์จะมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้น จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ดำเนินการออกข้อสอบ เพื่อความสะดวกในการจัดส่งข้อสอบ ประหยัดค่าบริหารจัดการ และหากผู้เข้าสอบอยู่ในพื้นที่ตัวเองอยู่แล้ว สามารถสอบได้ จะช่วยแก้ปัญหาการย้ายออกจากพื้นที่ไปด้วย” นายอัมพร กล่าว

นายอัมพรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ใน 18 คลัสเตอร์ มี 11 คลัสเตอร์ มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) เป็นผู้ออกข้อสอบ เนื่องจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ยังไม่เชี่ยวชาญ ส่วนที่เหลือใช้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ตัวเอง โดยในส่วนที่ มสด.ออกข้อสอบ มีผู้สอบผ่านเฉลี่ยอยู่ที่ 32.25% ซึ่งถือว่าอยู่ในมาตรฐาน แต่คลัสเตอร์อื่นๆ มีผู้สอบผ่านต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะข้อสอบค่อนข้างยาก อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เชียงใหม่ สอบผ่านแค่ 15% คลัสเตอร์ มรภ.อุดรธานี สอบผ่าน 10.40% แต่ที่หนักที่สุดคือคลัสเตอร์ มรภ.อุบลราชธานี สอบผ่านไม่ถึง 5% ดังนั้น จึงมอบหมายให้นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.ไปขอข้อมูลทุกมหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุว่าที่สอบไม่ผ่านเพราะสาเหตุใด เพื่อเสนอคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ปรับปรุงต่อไป

Advertisement

นายอัมพรกล่าวอีกว่า สำหรับเขตพื้นที่ฯ ที่ไม่มีผู้สอบผ่านในสาขาที่เปิดรับนั้น เบื้องต้นจะชดเชยส่วนหนึ่ง โดยจะให้เปิดสอบสาขาวิชาเอกที่ขาด ในการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว16) กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ สังกัด สพฐ.ซึ่งจะเปิดรับสมัครวันที่ 21-27 กรกฎาคม สอบข้อเขียนภาค ก ความรอบรู้และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู และสอบภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 19 สิงหาคม สอบสัมภาษณ์ วันที่ 20 สิงหาคม และประกาศผลสอบภายในวันที่ 24 สิงหาคม ขณะเดียวกันบัญชีของ กศจ.เดิมจะหมดอายุในเดือนกันยายนนี้ และจะต้องดำเนินการจัดสอบอีกรอบในปี 2567 ดังนั้น เขตพื้นที่ฯ ที่ยังขาดแคลนครูในสาขาวิชาเอกใด ก็สามารถเปิดสอบได้อีกครั้งในปี 2567

“ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องออกข้อสอบยาก ส่วนหนึ่งเพราะเป็นการสอบแข่งขัน เพื่อคัดเลือกคนเข้ามาเป็นครู ซึ่งต่างจากการสอบคัดเลือกครู ว16 ซึ่งจะคัดเลือกจากผู้ที่เป็นบุคลากรที่หน้าที่ปฏิบัติการสอน มีประสบการณ์อยู่แล้ว ดังนั้น ความยากง่ายของข้อสอบ จึงต้องมีความแตกต่างกัน” นายอัมพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภาพรวมการจัดสอบแข่งขันครูผู้ช่วย ปี 2566 มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และ อ.ก.ค.ศ.สำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดสอบรวม 205 แห่ง ใน 63 กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ผู้มีสิทธิสอบภาค ก และภาค ข 169,595 คน เข้าสอบภาค ก และภาค ข รวม 167,862 คน ผู้สอบผ่านภาค ก และภาค ข เพื่อเข้ารับการประเมินภาค ค รวม 42,952 คน คิดเป็น 25.29%

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ไม่มีผู้สอบผ่าน คือ ภาษาเวียดนาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เลย หนองบัวลำภู และพระพุทธศาสนา สพม.ยะลา กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ไม่มีผู้สมัคร คือ ภาษาอังกฤษ สพม.แม่ฮ่องสอน และอรรถบำบัด สศศ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image