สพฐ.เร่งแก้ปัญหาพื้นที่สอบครูผู้ช่วยได้น้อย ไม่พอใช้ ชง 2 ทางเลือก เรียกใช้บัญชีข้ามคลัสเตอร์-จัดสอบรอบ 2

สพฐ.เร่งแก้ปัญหาพื้นที่สอบครูผู้ช่วยได้น้อย ไม่พอใช้ ชง 2 ทางเลือก เรียกใช้บัญชีข้ามคลัสเตอร์-จัดสอบรอบ 2

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้มีการหารือ กรณีที่ สพฐ. ได้มีการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี 2566 ไปเมื่อวันที่ 24-25 มิถุนายน และประกาศผลสอบไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทุกคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศได้ประกาศผลสอบเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ในหลายประเด็น อย่างแรก การจัดสอบสัมภาษณ์ ภาค ค ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละเขตพื้นที่ จะกำหนดว่าจะจัดสอบในช่วงใด จำนวนเท่าไร ดังนั้นอยากสื่อสารไปยังผู้ที่สอบผ่าน ให้เตรียมความพร้อมในการสอบ ให้เป็นไปตามที่แต่ละ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่กำหนด รวมถึงเอกสาร อุปกรณ์ข้อตกลงต่างๆ ที่อยากให้อ่านเอกสารให้ละเอียด เพราะไม่อยากให้เสียโอกาส ขณะเดียวกัน ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่สอบไม่ผ่าน โดยถ้าดูจากผลการดำเนินการสอบครั้งนี้ คิดว่า ในปี 2567 ก็จะมีการจัดสอบอีกครั้ง เพราะผลการขึ้นบัญชีอาจจะไม่เพียงพอต่อการเรียกใช้บัญชีในปีหน้า แต่เพียงพอเฉพาะเรียกใช้ปี 2566

“จากการวิเคราะห์ การสอบปี 2566 ซึ่งแบ่งการจัดสอบเป็นคลัสเตอร์ ตามกลุ่มจังหวัด และมีมหาวิทยาลัย มาดำเนินการออกข้อสอบ โดยข้อสอบที่ออกโดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) มีผู้ผ่านเกณฑ์ ประมาณ 32.25% ส่วนมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่ออกข้อสอบให้กับสํานักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) มีผู้สอบผ่านกว่า 40% ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุดรธานี มีผลการสอบผ่านการคัดเลือกอยู่ประมาณ 10% ขณะที่ มรภ.อุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยทางภาคใต้ ที่มีผู้ผ่านจำนวนน้อย ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการครู ดังนั้น สพฐ. จะดำเนินการวิเคราะห์และออกแบบวางแผนแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้น จะพิจารณาว่า หากขอใช้บัญชีจากคลัสเตอร์ใกล้เคียง หรือแต่ละภาค หรือข้ามภาค จะเพียงพอต่อการบรรจุหรือไม่ หากไม่เพียงพอ ก็อาจจำเป็นต้องจัดสอบอีกรอบ ในคลัสเตอร์ที่มีความจำเป็นและขาดแคลน แต่ต้องรอผลการวิเคราะห์อีกครั้ง รวมถึงจะส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) นำไปวิเคราะห์หลักเกณฑ์และวิธีการว่า สาเหตุที่ทำให้ครูสอบผ่านน้อย เกิดจากปัจจัยหรือสาเหตุใด เช่น ข้อสอบยากเกินไป หรือ บางวิชา ผู้เข้าสอบไม่มีความถนัด ส่งผลให้ผู้เข้าสอบ ทำข้อสอบไม่ได้ เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อได้ผลการวิเคราะห์แล้ว ก็จะเสนอข้อมูลให้ทาง ก.ค.ศ. เพื่อนำไปปรับปรุงในโอกาสต่อไป” นายอัมพรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image