ครูรุ่นใหม่แห่ออกหลังได้บรรจุ เหตุระบบเน่าเฟะ วัดมืออาชีพจากรางวัล ซัด สพฐ.เมินแก้

ครูรุ่นใหม่แห่ออกหลังได้บรรจุ เหตุระบบเน่าเฟะ วัดมืออาชีพจากรางวัล ซัด สพฐ.เมินแก้ เอาแต่ป้องระบบที่ทำอยู่

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า กรณีมีดราม่าเรื่องการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ที่ข้อสอบยากเกินไป ทำให้บางเขตพื้นที่ฯ ไม่มีผู้สอบผ่านในสาขาที่เปิดรับสมัคร ขณะเดียวกันยังแสดงความเห็นกรณีมอบหมายให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบตามกลุ่มจังหวัด ว่าอาจทำให้ข้อสอบมีมาตรฐานไม่เท่ากันนั้น การสอบครูผู้ช่วยเกิดความผิดพลาดปีแล้วปีเล่า เป็นบทเรียนที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข มองว่าประเทศไทยใช้คำว่าถอดบทเรียน ฟุ่มเฟือยมาก แต่เมื่อเกิดอะไรที่ผิดพลาด ก็ไม่เคยแก้ไขเลย เกิดแล้วก็เกิดซ้ำ ไม่เคยแก้ไขปรับปรุง มีแต่ปกป้องระบบที่มีอยู่

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า มองว่าการสอบครูผู้ช่วยสะท้อนเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของวงการการศึกษาไทย คือแค่การตั้งต้นชีวิตการเป็นครู ก็ต้องสอบเอาเป็นเอาตายแล้ว ทั้งที่การบรรจุครูไม่ใช่จำเนื้อหาในการสอบเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องวัด และดูเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย ทำให้เห็นว่าการสอบที่เน้นเนื้อหาเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาไทย ไม่สามารถแก้ไขได้เลย และไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเมื่อคนที่สอบผ่าน และได้รับการบรรจุเข้าเป็นครู จะสอนหนังสือโดยเน้นการสอบเป็นหลัก

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ไม่แปลกใจเช่นกันว่า การสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือการสอบเป็นครูผู้ช่วย ข้อสอบยากมาก และวัดแค่เนื้อหา แต่ไม่ตอบแก่นสาระวิชาชีพของความเป็นครู และไม่ตอบโจทย์สิ่งที่ควรจะวัดเลย เช่น ให้จำปี พ.ศ.หรือให้จำมาตราของกฎหมาย หรือว่าทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้แชมป์ 3 แชมป์ (ทริปเปิลแชมป์) เป็นสมัยที่เท่าไหร่ ขอถามว่าคำถามเหล่านี้ สามารถเชื่อมโยงให้เราได้ครูที่ดี มีความสามารถในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนอย่างไร การสอบวัดแบบนี้ จะทำให้ได้คนที่มีความตั้งใจ คนที่รักวิชาชีพมาเป็นครูหรือไม่

Advertisement

“เมื่อคนเหล่านี้สอบผ่านเป็นครูแล้ว จะพบว่าครูพวกนี้ ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน และปัจจุบันจะเห็นว่ามีครูจำนวนไม่น้อยที่สอบบรรจุได้แล้วลาออก เพราะสิ่งที่ครูรุ่นใหม่คาดหวัง และต้องการ กับชีวิตครูในความเป็นจริง ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้ทำงานไม่นานก็ลาออกเป็นจำนวนมาก โดยที่ส่วนกลาง จะมองว่าสาเหตุที่ครูรุ่นใหม่ลาออกเพราะเหตุผลส่วนตัว แต่ไม่เคยดูเลยว่าระบบที่ได้ครูมา และระบบที่ให้ครูทำงาน ไม่มีความสุข” นายสมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า จากการวิจัยล่าสุด พบว่าครูไทยส่วนใหญ่ต้องมีรางวัล จึงจะการันตรีเรื่องการเป็นครูมืออาชีพ และการที่ได้รับรางวัล จะไปโยงกับการทำเอกสารจริงปนเท็จ นอกจากนี้ ต้องทำคลิปวิดีโอตัดต่อในการประกวดเพื่อรับรางวัล สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้วิชาชีพครูตกต่ำลงไปอีก ครูรุ่นใหม่เริ่มเห็นความเน่าเฟะของระบบครูที่ผิดแผกแตกต่างจากระบบการจัดการศึกษาทั่วโลก ทุกประเทศวัดครูที่ดีจากพฤติกรรม การจัดการเรียนการสอนของครู แต่ไทยกลับดูที่รางวัล การจัดทำเอกสารของครู ถ้ายังไม่ปฏิรูประบบการฝึกหัดครู ระบบสอบบรรจุครู และระบบการทำงานของครู เราไม่มีทางเดินหน้าพัฒนาการศึกษาไทยได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image