ศธ.ลงพื้นที่อุดรธานี แก้หนี้ครู เร่งให้ความรู้การเงิน ปักหมุดช่วยปรับสมดุลทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ ห้องประชุมสยามมนต์ตรา คอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมสยามแกรนด์ อุดรธานี จังหวัดอุดรธานี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดศธ.และผู้บริหาร ศธ. และ 16 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” 4 ภูมิภาค ครั้งที่ 5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยน.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ศธ. มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับภูมิภาค ด้วยการจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า 4 ภูมิภาค 5 จังหวัด โดยครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการเมื่อต้นปี 2566 ในระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2566 โดยความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ครั้งที่ผ่านมา มีดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 626 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 785 ล้านบาท ภาคตะวันออก ที่จังหวัดสระแก้ว มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 143 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 175 ล้านบาท ภาคเหนือ ที่จังหวัดพิษณุโลก มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 199 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 274 ล้านบาท และล่าสุดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 393 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 615 ล้านบาท

นายสุทิน กล่าวว่า สำหรับการจัดงานภาคอีสาน ครั้งที่ 5 ที่จังหวัดอุดรธานี ศธ. มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูระดับพื้นที่ทั้งระบบอย่างยั่งยืน ใน 3 มิติ โดยมิติแรกเน้นการอบรมให้ความรู้ทางการเงินในด้านการออม การลงทุน การบริหารจัดการหนี้ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อต่าง ๆ เช่น จัดการเงินดี Happy แน่นอน, รู้คิดพิชิตหนี้, รู้ทันภัยการเงิน เพื่อให้ครูสามารถวางแผนการเงิน-การลงทุน-ภาษี บริหารรายรับ-รายจ่าย และจัดการหนี้สินของตนเองและครอบครัวได้ มิติที่ 2 เปิดให้คำปรึกษา เจรจา ไกล่เกลี่ย ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติการบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ครูไทยเข้ารับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงได้รับการผ่อนปรนและสิทธิพิเศษจากสถาบันการเงินเป็นกรณีพิเศษ และมิติที่ 3 เร่งผลักดันและดำเนินการตามกลยุทธ์ที่ได้กำหนดไว้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูให้ยั่งยืน ได้แก่ 1.สร้างความรู้ทางการเงิน2.บริหารจัดการแบบพุ่งเป้า พบปัญหาเร่งช่วยเหลือแบบพุ่งเป้าเพื่อปรับสมดุลหนี้  3.พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลหนี้ครู จัดทำฐานข้อมูลกลุ่มลูกหนี้ครูตามสถานะและเชื่อมโยงฐานข้อมูลหนี้ครูทั้งระบบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน และ4. พัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อสร้างความแข็งแรงสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เร่งพัฒนาระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีประสิทธิภาพ สร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศและสถาบันการเงิน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image