หนุน ก.ค.ศ.จัดสอบครูผู้ช่วยทั่ว ปท.แก้ออกข้อสอบลักลั่น-แนะปรับ กม.รองรับ

หนุน ก.ค.ศ.จัดสอบครูผู้ช่วยทั่ว ปท.แก้ออกข้อสอบลักลั่น-แนะปรับ กม.รองรับ จี้ สพฐ.คลอดเกณฑ์ ‘ภาค ค’ สกัดเล่นพวก

รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า กรณีที่ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เสนอปรับระบบการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยให้สำนักงาน ก.ค.ศ.เป็นหน่วยงานกลางจัดสอบภาค ก และภาค ข ปีละ 2 ครั้ง เช่นเดียวกับการสอบรับข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หากโรงเรียนใดมีอัตราว่างและประกาศรับให้นำคะแนนไปยื่นเพื่อสอบภาค ค ได้ทันทีนั้น โดยหลักการเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาข้อสอบให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และมีโอกาสที่จะเกิดความโปร่งใส เป็นธรรม มากกว่าการกระจายให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการ เพราะต้องยอมรับความจริงว่าการกระจายอำนาจก็เปิดโอกาสให้บางเขตพื้นที่ดำเนินการแบบไม่ชอบมาพากลได้

รศ.ดร.อดิศรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานที่จะมาออกข้อสอบจะต้องออกข้อสอบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่เน้นท่องจำมากเกินไป ขณะเดียวกันการสอบสัมภาษณ์ภาค ค ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนดำเนินการจัดสอบเองนั้น โดยหลักการเป็นเรื่องที่ดีที่ให้โรงเรียนมีโอกาสคัดเลือกครูได้เอง แก้ปัญหาการขอย้ายได้ในอนาคต แต่อยากให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะต้นสังกัด และสำนักงาน ก.ค.ศ.ในฐานะที่ดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ออกหลักเกณฑ์การให้คะแนนภาค ค ที่ชัดเจน รวมถึงจะต้องมีกติกาที่โปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก หรือทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

“ข้อเสนอให้สำนักงาน ก.ค.ศ.เป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบภาค ก และภาค ข นั้นผมเห็นด้วยในหลักการ แต่ยังกังวลในเรื่องการสอบภาค ค ที่จะต้องมีหลักเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก ขณะเดียวกัน ยังต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะอำนาจการจัดสอบครูและผู้บริหารโรงเรียนเป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ดังนั้น หากจะให้สำนักงาน ก.ค.ศ.เป็นหน่วยงานจัดสอบอาจจะต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะการดึงอำนาจการจัดสอบไปอาจจะเป็นการลดบทบาท ทำให้ อ.ก.ค.ศ.เป็นเหมือนทางผ่าน เหลือแค่อนุมัติการบรรจุแต่งตั้งตามนโยบายเท่านั้น ดังนั้น หากจะดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวก็อยากให้แก้กฎหมายเรื่องโครงสร้างให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต” รศ.ดร.อดิศรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image