ชี้ครูใหม่แห่ลาออกมีหลายสาเหตุ ยัน ‘ม.’ ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เหตุปรับหลักสูตรทุก 5 ปี

ชี้ครูใหม่แห่ลาออกมีหลายสาเหตุ ยัน ‘ม.’ ไม่ใช่ปัจจัยหลัก-เหตุปรับหลักสูตรทุก 5 ปี ชี้โครงสร้าง สพฐ.ผลักครูทำงานอื่นมากกว่าสอน

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรนม.) เปิดเผยว่า กรณีมีผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันผลิตครูว่าไม่ปรับตัวให้ทันโลกที่เปลี่ยนไป ยังผลิตบัณฑิตครูแบบเดิมๆ ใช้หลักสูตรผลิตครูแบบเดิมๆ ทำให้บัณฑิตครูเมื่อได้รับการบรรจุได้ไม่นาน ก็ลาออกไปนั้น ที่วิจารณ์ว่าบัณฑิตครูที่จบออกไป ไม่สามารถประกอบวิชาชีพครู หรือว่าสามารถทำงานในฐานะครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีครูบางส่วนที่ลาออก จึงสมควรที่จะต้องปรับ หรือผลิตครู ทั้งในแง่ของหลักสูตร หรือด้านอื่นๆ หรือไม่ คิดว่าน่าจะยังไม่ตรงประเด็น ถ้ากล่าวถึงเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานที่ตอบโจทย์กับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งโลกใบนี้เปลี่ยนไปเยอะมากกับสิ่งที่เรียกว่าวิชาชีพครู

นายอดิศรกล่าวอีกว่า ประเด็นที่บัณฑิตครูได้รับการบรรจุครู แล้วไม่สามารถประกอบอาชีพครูต่อไปได้ เชื่อว่าไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน คนที่เข้าไปสู่วิชาชีพครู หรืออาชีพใดๆ ก็ตาม มักจะมีการลาออก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และมีปริมาณที่ไม่น่าจะมีนัยสำคัญ แต่บังเอิญว่าในยุคปัจจุบันนี้ มีช่องทางในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นช่องทางของตัวเองทางโซเชียลมีเดีย ทำให้สะท้อนสิ่งที่ตัวเองไม่สบายใจ และไม่มีความสุขในการทำงาน ทำให้ฝ่ายผลิตครูต้องมาทบทวนเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจากฝ่ายผลิตครูทั้งหมด เป็นเรื่องของกระบวนการในการทำงานที่โรงเรียนเป็นหลัก เช่น งานด้านธุรการที่เกี่ยวกับการประกวดแข่งขัน การทำงานเอกสาร ฯลฯ น่าจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ครูลาออกกัน

“ผมยืนยันว่าครูที่ลาออกเหล่านี้ ยังมีจำนวนไม่มาก และยังไม่มีนัยสำคัญ ถ้าลองมองมุมกลับ เวลาเปิดสอบบรรจุครูทีไร จะเห็นว่ามีคนสมัครมหาศาล รับนิดเดียวก็ยังแย่งกัน แต่พอเข้าไปเป็นครูแล้ว ก็มีออกบ้าง อยู่ที่ความไม่พึงพอใจของคนบางคน ซึ่งมีน้อย คนๆ นั้น มีช่องทาง หรือมีโอกาสในการที่จะไปประกอบอาชีพอื่น ทั้งอาชีพอิสระ อาชีพส่วนตัว เป็นต้น” นายอดิศร กล่าว

Advertisement

นายอดิศรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ต่อให้หลักสูตรดีแค่ไหน ถ้าไม่มีระบบ และกลไก ทั้งกระบวนการนำหลักสูตรไปใช้ และองค์ประกอบการบริหารจัดการ จะไม่ประสบความสำเร็จ และไม่สามารถผลิตครูที่ดีได้ ถ้าถามว่ามหาวิทยาลัยปรับหลักสูตรหรือไม่ โดยโครงสร้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรผลิตครู หรือหลักสูตรอื่นๆ จะต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรครูทุก 5 ปี เป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำหนด และต้องปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานของคุรุสภา

“ดังนั้น ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งปรับหลักสูตร มหาวิทยาลัยผมก็ปรับ และปรับไปตามเทรนด์ ผมมองว่าเป็นที่ระบบของฝ่ายใช้ครู ระบบ วัฒนธรรม โดยเฉพาะที่โทษกันทุกวันนี้ก็คือ พวกที่ทำให้ครูทำงานอื่นมากกว่าการสอนเยอะจนเกินไป รวมถึง วัฒนธรรมองค์กร โครงสร้างระบบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก่อให้เกิดการทำงานที่มากกว่าการจัดการเรียนการสอน” นายอดิศร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image