ปลัด อว.ชี้มหา’ลัยตั้งสอบวินัยอาจารย์ซื้องานวิจัย พบผิดจริง 9 ราย

ปลัด อว.ชี้มหา’ลัยตั้งสอบวินัยอาจารย์ซื้องานวิจัย พบผิดจริง 9 ราย พ้นข้อกล่าวหา 21 ราย ชื่นชมราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ลงโทษวินัยร้ายแรง-ให้ออกบุคลากรซื้อผลงานวิจัย ลุยแจ้งความดำเนินคดี ผู้รับจ้างทำ ‘ธีซิส-งานวิจัย’ อีก 9 ราย

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อขายผลงานวิจัย หรือการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการของอาจารย์ภายในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ภายหลังจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ดำเนินการตรวจสอบอาจารย์ หรือนักวิจัยในสังกัด ว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายการผิดจรรยาบรรณการ เผยแพร่ผลงานจากการซื้อผลงานตีพิมพ์งานวิจัย ให้ อว.รับทราบ และพบว่ามีบุคลากรที่มีข้อสังเกตเข้าข่ายในการผิดจรรยาบรรณการตีพิมพ์ผลงานวิจัย จำนวนหลายสิบรายนั้น กรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมในการซื้อผลงานวิจัยของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง เรื่่องนี้ถือเป็นความผิดที่ร้ายแรงทางจริยธรรมการวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก นับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ทาง อว.ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โดย อว.ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง ตรวจสอบว่ามีอาจารย์ หรือนักวิจัย ที่กระทำผิดต่อพฤติกรรมต้องห้ามหรือไม่

“มหาวิทยาลัยได้รายงานผลการตรวจสอบมาให้ทาง อว.เป็นระยะๆ ประกอบกับ อว.มีกลไกภายในเช่นกัน โดยสำนักงานปลัด อว.ได้ผลักดันสืบค้นทั้งในส่วนที่เป็นข้อมูลที่เปิดเผย และข้อมูลที่มีการแจ้งมาทาง อว.โดยตรง ขณะนี้ อว.ได้แจ้งมหาวิทยาลัยทั้งหมด 33 แห่ง ว่ามีนักวิชาการที่ต้องถูกตรวจสอบจำนวน 109 คน ตามรายงานล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม พบว่ามีอาจารย์ที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว และเข้าข่ายว่ามีพฤติกรรมในการซื้องานวิจัยจริง โดยมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ที่กระทำผิดแล้ว 9 คน และมีนักวิชาการที่ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา 21 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ ทั้งนี้ อว.จะดำเนินการสืบหาความจริงอย่างต่อเนื่อง” นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

นพ.สิริฤกษ์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ออกประกาศกรณีมีบุคลากรในสังกัด 1 ราย มีพฤติการณ์ว่ามีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีความผิดปกติจนเกิดความเสียหาย และผลการตรวจสอบพบว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดวินัยร้ายแรงจริง โดยได้ลงโทษทางวินัยร้ายแรง และพ้นจากการเป็นบุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้วนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี และขอชื่นชมทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ทั้งนี้ ถ้า อว.มีข้อมูลเพิ่มเติมก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป

Advertisement

“นอกจากการซื้อผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ให้ออกมาเป็นผลงานของตัวเองแล้ว ยังมีอีกหนึ่งประเด็น คือเรื่องของจริยธรรมในการวิจัย เช่น การรับจ้างทำวิทยานิพินธ์ หรือการรับจ้างทำวิจัย โดยสำนักงานปลัด อว.ได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งความ หรือดำเนินคดีกับผู้ที่มีพฤติกรรมในการรับจ้างทำวิทยานิพินธ์ และการเขียนงานวิจัยแล้ว ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรง และถูกดำเนินคดีไปแล้ว 9 ราย หากมีข้อมูลเพิ่มเติมก็จะดำเนินการต่อไป รวมทั้ง อว.ได้แจ้งมหาวิทยาลัยช่วยกันกวดขัน เพื่อไม่ให้อาจารย์ พนักงาน นิสิต นักศึกษา ของตนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการจ้างเขียนงานวิจัย หรือแม้กระทั่งการรับจ้างเขียนวิทยานินธ์ เพราะการดำเนินการทางวิชาการ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง และคำนึงถึงเรื่องของจริยธรรมในทุกด้าน” นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางเพจเฟซบุ๊กของทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ Chulabhorn Royal Academy ได้โพสต์กรณีมีบุคลากรในสังกัดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รายหนึ่ง มีพฤติการณ์ว่ามีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีความผิดปกติจนเกิดความเสียหายต่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ตรวจสอบจนเป็นที่ยุติ พบว่าบุคลากรรายดังกล่าวมีพฤติการณ์กระทำความผิดวินัยร้ายแรงอันเกี่ยวเนื่องจากพฤติการณ์ที่ผิดปกติของการตีพิมพ์ผลงานวิจัย และได้ลงโทษทางวินัยร้ายแรง และพ้นจากการเป็นบุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีการซื้อผลงานวิจัยจากต่างประเทศของพนักงาน อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทยนั้น ช่วงปลายปีที่ผ่านมามีการออกมาเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียว่ามีนักวิชาการไทยจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ เพื่อใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของผลงาน และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ มีการจ่ายเงินเป็นแพคเกจอย่างระดับปริญญาเอกจ่าย 2-3 แสนบาท ทำให้นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งหนังสือสั่งการให้มหาวิทยาลัยดำเนินการตรวจสอบ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image