ม.เชียงใหม่ ให้ออกแล้ว 1 ราย อาจารย์ช้อปงานวิจัย อว.ลุยตรวจสอบเข้มต่อเนื่อง

อว.เร่งตรวจสอบอาจารย์ช้อปงานวิจัยต่อเนื่อง ชี้ ส่วนใหญ่อยู่ในม.รัฐ-ม.นอกระบบ เล็งหารือ ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ ดำเนินการตามกฎหมายอาจารย์ทำผิดจรรยาบรรณ แจ้งความ 5 เพจ รับจ้างทำวิจัย-วิทยานิพนธ์ ขณะที่ มช.ไล่ออกแล้ว 1 ราย สอบวินัย 2 ราย

กรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการซื้อขายผลงานวิจัย หรือการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการของอาจารย์ภายในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยพบว่า มีอาจารย์ที่เข้าข่ายมีพฤติกรรมซื้อขายงานวิจัยรวม 109 คน ใน 33 มหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ที่กระทำผิดแล้ว 9 คน และมีนักวิชาการที่ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา 21 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ นั้น

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว.เดินหน้าตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อขายผลงานวิจัย หรือการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการของอาจารย์ภายในสถาบันอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามีอาจารย์ ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายซื้อขายงานวิจัยจำนวน 109 คน ใน 33 มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างสอบสวนวินัยผู้กระทำความผิดแล้ว 9 คน ไม่พบความผิดปกติ 21 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 44 คน และไม่ได้เป็นบุคลากรของสถาบันแล้ว จำนวน 8 คน ซึ่งในกรณีที่ลาออกหรือไม่ได้เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยแล้ว ทางสำนักงานปลัดกระทรวง อว. จะดำเนินการติดตามต่อไป รวมถึงบางคนที่เป็น นักวิจัยหลังปริญญาเอก (Post Doc) มาจากต่างประเทศ แล้วมีการตรวจสอบพบความผิดปกติ ทางมหาวิทยาลัยก็จะไม่ต่อสัญญาจ้าง นอกจากนี้ ยังพบว่ามีมหาวิทยาลัย 8 แห่งไม่ส่งข้อมูล โดยทางคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ขอให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. เร่งติดตามให้ทุกแห่งเร่งดำเนินการ หากพบแน่ชัดว่าผิดจริงให้ดำเนินการลงโทษ
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้มีการแจ้งความเพจเฟสบุ๊กที่ดำเนินการรับจ้างทำวิจัย ทำวิทยานิพนธ์ ไปแล้วจำนวน 5 เพจ ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้รวบรวมหลักฐานการกระทำความผิดที่ชัดเจนของเพจดังกล่าวแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการกระทำผิดทั้ง 2 กรณี เป็นความผิดตามมาตรา 70 ของ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา 2562

“ขณะเดียวกันในส่วนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้ออกประกาศกรณีมีบุคลากรในสังกัด 1 ราย มีพฤติการณ์ว่ามีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีความผิดปกติจนเกิดความเสียหาย และผลการตรวจสอบพบว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดวินัยร้ายแรงจริง โดยได้ลงโทษทางวินัยร้ายแรง และพ้นจากการเป็นบุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้วนั้น ทางอว.ก็ต้องหารือกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิด รวมถึงทั้ง 9 รายที่อยู่ระหว่างสอบวินัยร้ายแรงด้วย เพื่อทำให้เห็นว่า อว.มีการดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เชื่อว่ามหาวิทยาลัยเอง ก็จะตระหนัก และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นมาอีก เพราะเท่าที่เจอผู้กระทำความผิดกว่า 109 คน ก็ถือว่า เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ ที่สำคัญ ส่วนใหญ่จะอยู่ในมหาวิทยาลัยรัฐ หรือมหาวิทยาลัยในกำกับ ที่มีนักวิจัยค่อนข้างมาก และใช้ผลงานวิจัยเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมินผลงานด้วย” รองปลัดอว.

Advertisement

ด้านศ.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ในส่วนของมช. ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาพบว่า มีนักวิจัยที่กระทำความผิดจริงเข้าข่ายซื้อขายผลงานวิจัยจริง โดยทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการสอบสวนและลงโทษไล่ออกแล้ว 1 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนวินัย 2 ราย หากพบว่าทำความผิดจะดำเนินการลงโทษอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในส่วนของมหาวิทยาลัยในกลุ่มทปอ. นั้น ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมามหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกทปอ.ทั้ง 36 แห่ง ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า 1. ไม่ยอมรับการกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัยดังกล่าว และจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีการกระทำความผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัยจริง จะถือว่ามีความผิดและลงโทษต่อไปและ 2. มอบหมายให้คณะกรรมการวิจัยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยหาวิธีการส่งเสริมให้บุคลากรยึดมั่นในจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย และกำหนดแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด

“ต้องยอมรับว่า การทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัยดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะหากมีผู้กระทำผิดเพียงคนเดียวจะทำให้เกิดความเสียหายไปทั้งหมด เหมือนปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง ดังนั้นเชื่อว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ความสำคัญและมีความตระหนักในเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะผลงานวิจัยถือว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจะต้องเป็นผลงานที่ผลิตออกมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลจริง ไม่ใช่การคัดลอกหรือซื้อผลงานของผู้อื่น ซึ่งหากนำผลงานที่ไม่ใช่ข้อมูลจริงๆ ใช้ อาจส่งผลกระทบในวงกว้างตามมา” ศ.นพ.พงษ์รักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image