เลขาฯ รมว.อว.เร่ง ‘ม.’ สอบข้อเท็จจริงอาจารย์ซื้องานวิจัย จี้ 8 มหา’ลัยส่งข้อมูล ชี้ปล่อยนาน ยิ่งเสียชื่อ

เลขาฯ รมว.อว.เร่ง ‘ม.’ สอบข้อเท็จจริงอาจารย์ซื้องานวิจัย จี้ 8 มหา’ลัยส่งข้อมูล ชี้ปล่อยนาน ยิ่งเสียชื่อ

จากกรณีที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีความคืบหน้าการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อขายผลงานวิจัย หรือการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการของอาจารย์ภายในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ของอาจารย์ หรือนักวิจัยในสังกัด ว่าเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ เผยแพร่ผลงานจากการซื้อผลงานตีพิมพ์งานวิจัย โดยได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยทั้งหมด 33 แห่ง ว่ามีนักวิชาการถูกตรวจสอบ 109 คน เข้าข่ายว่ามีพฤติกรรมในการซื้องานวิจัยจริง โดยมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ที่กระทำผิดแล้ว 9 คน และมีนักวิชาการที่ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา 21 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ หลังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ลงโทษวินัยร้ายแรงบุคลากร และให้พ้นจากการเป็นบุคลากร 1 ราย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้สอบสวน และลงโทษไล่ออกบุคลากร 1 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนวินัย 2 ราย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) อยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริงอาจารย์ 1 รายนั้น

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม นายดนุช ต้นเทิดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ อว.เปิดเผยว่า ความคืบหน้ากรณีที่อาจารย์ และนักวิจัย ซื้อผลงานวิจัยมาใส่ชื่อของตัวเองนั้น ในส่วนผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้บริหารคนใดเข้าข่ายซื้อผลงานวิจัย หรือกระทำผิดในเรื่องนี้ แต่มหาวิทยาลัยที่ถูกร้องเรียนในเรื่องนี้มี 30 กว่าแห่ง และมีผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิดมากกว่า 100 คน โดยทาง อว.ได้สืบค้นอย่างเข้มข้น และอย่างเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการขออนุมัติตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) และรองศาสตราจารย์ (รศ.) อาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องทำผลงานวิจัยเพื่อยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการเหล่านี้ ซึ่งงานวิจัยไม่ว่าจะซื้อ หรือทำเองก็ตาม อว.จะไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องผ่านสภามหาวิทยาลัย ยกเว้นตำแหน่งวิชาการระดับศาสตราจารย์ (ศ.) ที่ต้องผ่านการพิจารณาของ อว.โดยตรง เพราะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

“ดังนั้น เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะว่าเหตุเกิดในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่มีอยู่ 100 กว่าแห่ง อาจารย์มีอยู่ทั้งหมด 7 หมื่นคนทั่วประเทศ และอาจารย์ส่วนใหญ่ก็อยากขอตำแหน่งทางวิชาการอยู่แล้ว ฉะนั้น ขณะนี้การสืบหาความจริงยังไม่จบ อว.จะต้องติดตาม ตรวจสอบการทำงานของมหาวิทยาลัย และสภามหาวิทยาลัย ในการอนุมัติตำแหน่งวิชาการว่ารอบคอบแค่ไหน เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ไม่เช่นนั้นแล้ว อว.ต้องมารับเรื่องร้องเรียนพวกนี้ต่อไป” นายดนุช กล่าว

Advertisement

นายดนุชกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการลงโทษขั้นพื้นฐานที่มหาวิทยาลัย และสถาบันบางแห่งได้ทำแล้ว คือการให้พ้นจากตำแหน่ง และต้องหาถึงต้นสายปลายเหตุของการได้มาของผลงานทางวิชาการ เพราะน่าจะมีคนที่ยังซื้อขายงานวิจัยอยู่ และยังคงมีจำนวนที่เพิ่มเข้ามา โดย อว.อาจจะต้องตรวจงานวิจัยเหล่านั้น ว่าอาจจะไม่เข้าข่ายซื้องานวิจัย หรืออาจจะถูกสงสัยว่าซื้องานวิจัย แต่ อว.ไม่สามารถตัดสินว่าคนนั้นคนนี้ซื้อผลงานวิจัย ดังนั้น จึงต้องให้มหาวิทยาลัยต้นสังกัดรับผิดชอบในการสอบหาข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม อว.จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป

“ส่วนที่มีมหาวิทยาลัย 8 แห่ง ยังไม่ได้ส่งข้อมูลความคืบหน้าให้ อว.นั้น อว.ติดตามตลอด ฉะนั้น มหาวิทยาลัยจะไม่ส่งข้อมูลให้ อว.ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะกระบวนการต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่ติดขัดเรื่องอะไร ก็ว่ากันไป เพราะเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน” นายดนุช กล่าว

นายดนุชกล่าวว่า ส่วน อว.จะมีมาตรการป้องกัน หรือมาตรการลงโทษมหาวิทยาลัยต้นสังกัดอย่างไรนั้น พูดกันตามตรงว่าเรื่องที่เกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อชื่อเสียงมหาวิทยาลัยถ้าหากปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น มหาวิทยาลัยยิ่งต้องให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิด และ อว.มีหน้าที่ย้ำเตือนให้เห็นถึงคำสั่งของ อว.ที่เคยให้ไว้

Advertisement

“ประเด็นที่มหาวิทยาลัยจะต้องทำผลงานวิชาการ เพื่อกระตุ้นให้ได้งบ ค่าตอบแทน การขยับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น ทำให้อาจารย์ต้องซื้อผลงานวิจัยนั้น ถือเป็นข้ออ้าง เพราะอาจารย์ต้องคิดได้ว่าไม่ควรซื้อผลงานวิจัย เพราะเป็นจรรยาบรรณของคนที่เป็นครูบาอาจารย์ ขนาดเด็กๆ ก็คิดได้ นักศึกษาปริญญาตรีก็คิดได้ สมมุติว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาแล้วไปทำงานวิจัยด้านวิศวกรรม ก็ผิดแล้ว ฉะนั้น ไม่เกี่ยวกับระยะเวลาในการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของคนที่เป็นอาจารย์ ขอแค่ให้งานวิจัยตรงกับมาตราฐานที่จะเผยแพร่ได้เท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว” นายดนุช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image