ฟันธงการศึกษาไทยอาเพศ 4 เรื่อง ชี้ปัญหาครอบครัวกระทบ ‘เด็กไทย’ 50% ‘ยากจน-เหลื่อมล้ำ’ รุนแรง

ฟันธงการศึกษาไทยอาเพศ 4 เรื่อง ชี้ปัญหาครอบครัวกระทบ ‘เด็กไทย’ ถึง 50% ‘ยากจน-เหลื่อมล้ำ’ รุนแรง-การเมืองน้ำเน่า

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ได้เกิดอาเพศทางการศึกษา 4 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1.มีเด็กออกกลางคันประมาณ 1 แสนคน 2.เกิดกรณีของ น.ส.ธนลภย์ หรือหยก ที่อยากเรียนต้องปีนรั้วเข้าโรงเรียน 3.เกิดการผลักเด็ก 126 คน กลับเมียนมาเพื่อไปเผชิญสงคราม และ 4.กรณีน้องข้าว หรือพ่อลูกผูกคอตาย มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งผิดปกติในระบบการศึกษา อาจจะต้องทบทวน และตั้งคำถามว่าการศึกษาไทย มีอาเพศ หรือผิดปกติอะไร ทำไมปีนี้ถึงมีเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น กลับเกิดขึ้นได้

“กรณีสองพ่อลูกที่ผูกคอตายนั้น จากที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ลงพื้นสำรวจผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอะไรกับครอบครัวไทยบ้าง โดย กสศ.สำรวจ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น ยะลา ราชบุรี และพิษณุโลก พบครอบครัวที่เหมือนกับสองพ่อลูกนี้ คือประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน ในแต่ละจังหวัดเฉลี่ย 350-400 คน ซึ่งตนไม่อยากคิดว่าหากรวมทั้ง 77 จังหวัด จะมีจำนวนเด็กมากขนาดไหน อย่างกรณีสองพ่อลูก เด็กซึ่งก็คือ น้องข้าว อยู่ในครอบครัววิกฤต 4 มิติ คือ 1.อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 2.เจอปัญหาเศรษฐกิจ คือพ่อไม่มีงานทำ จนตรอกหมดหนทาง ไปต่อไม่ได้ 3.สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่มีน้ำ และไฟฟ้าใช้ และ 4.ชุมชนไม่สามารถช่วยเหลือ คุ้มครองเด็กได้มากเท่าที่ควร” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า จากที่ กสศ.ตรวจสอบ พบว่าน้องข้าวได้รับทุน กสศ.มา 3 ปีแล้ว โดยได้รับทุนปีละ 3,000 บาท และปีนี้จะได้รับทุน กศส.เป็นปีที่ 4 ซึ่งตนมองว่าการช่วยเหลือเรื่องการศึกษาเพียงอย่างเดียว เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ และความยากจนได้ ประเด็นนี้สังคมอาจต้องคิดหนักขึ้น เพราะปัญหาครอบครัวส่งผลกระทบต่อเด็กถึง 50% จากกรณีน้องข้าวทำให้ค้นพบ 4 เรื่อง คือ 1.ต้องช่วยเรื่องทุนการศึกษา 2.ต้องมีครูที่คอยติดตาม ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือเด็ก 3.ต้องมีชุดสวัสดิการของเด็ก เช่น ค่าอาหารเช้า ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้าให้เด็ก และ 4.มีอาชีพให้กับครอบครัวด้วย

Advertisement

“ขณะนี้ภาวะความยากจนกลับมาทวีหนัก และรุนแรงมากขึ้น ผมว่าอย่างน้อยๆ จะเจอความเหลื่อมล้ำที่วิกฤต 2-3 ปี และหน่วยราชการที่ไปช่วย ไม่ว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำรวจเด็กเหล่านี้ไม่ถึง หรือเข้าไม่ถึงครอบครัวที่เดือดร้อน ซึ่งมีโอกาสเกิดเหตุการณ์สลดเหมือนสองพ่อลูกผูกคอตายขึ้นอีก และขณะนี้สังคมไทยเกิดความเหลื่อมล้ำมาก ระหว่างครอบครัวที่ยากจนสุด กับครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุด ต่างกันถึง 25 เท่า และคุณภาพการศึกษาระหว่างในเมือง และชนบท ต่างกันถึง 2 ชั้นปี จะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำกลับมากระหน่ำสังคมไทยอย่างรุนแรง” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า คิดว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ศธ.ขาดคนที่กล้าตัดสินใจเรื่องการศึกษา การได้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่รักษาการอยู่ทุกวันนี้ ไม่เป็นคุณกับปัญหาที่วิกฤต และหนักหน่วงรุนแรงขึ้น เรากำลังพบความมืดจากระบบการเมือง ไม่มีใครกล้าจับประเด็นปัญหา ไม่มีใครกล้าลงไปดูปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นสุญญากาศทางการเมือง

“ขณะนี้จะเห็นสถานการณ์การเมืองที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล ทำให้รู้ว่าการเมืองน้ำเน่าแบบเดิมจะกลับมาอีก แบ่งกระทรวงเหมือนเดิม จะได้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มาตามโควต้า ไม่เห็นมิติการทำงานใหม่ๆ คือมาปกครอง แต่ไม่ทำให้การศึกษาดีขึ้น มองว่ากำลังเข้าสู่วงจรแห่งความล้าหลัง ไม่กล้าตัดสินใจ อยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่มีใครใส่ใจชีวิตของเด็ก ความยากจน ความค้นแค้น ตนไม่อยากให้ความสูญเสียครั้งนี้ เป็นการสูญเปล่าในสังคมไทย” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image