มติชนมติครู : ทศวรรษที่หายไปของการศึกษาไทย ที่รัฐบาลใหม่จะต้องนำกลับคืนมา

มติชนมติครู : ทศวรรษที่หายไปของการศึกษาไทย ที่รัฐบาลใหม่จะต้องนำกลับคืนมา

ทศวรรษที่หายไป (The Lost Decade) ของการศึกษาไทย เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนมาถึงบัดนี้กำลังจะเข้าหนึ่งทศวรรษที่การศึกษาไทยที่หยุดนิ่ง และซ้ำยังเดินถอยหลังไปกว่าเดิมอีกหลายก้าว ดั่งว่ากาลเวลาได้หายไปสำหรับการศึกษาไทย

ก่อนการยึดอำนาจ กระแสการปฏิรูปการศึกษา อยู่ในสำนึกของสังคมไทย เป็นสำนึกที่ต้องการเห็นการศึกษาไทยมีพัฒนาการก้าวขึ้นมาจากปลักความล้าหลังที่ต่อเนื่องมานาน สำนึกที่ต้องการเห็นประเทศชาติมีอนาคต และเยาวชนไทยเติบใหญ่ขึ้น มาเป็นประชากรโลกที่เท่าทัน และแข่งขันกับชาติใดๆ ได้โดยเท่าเทียม

รูปธรรมจึงเริ่มเกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร โดยเริ่มกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการศึกษาด้วยการยกร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ที่จะยกเครื่องทั้งนำเข้าองค์ความรู้ที่ทันโลก และวิธีการเรียนรู้ที่สร้างทักษะของศตวรรษที่ 21 ทั้งจะใช้หลักสูตรใหม่เป็นตัวจุดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปครู การยกเครื่องเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่จะให้เทคโนโลยีสารสนเทคแบบล้ำหน้า เป็นทั้งเครื่องมือการเรียนรู้ และฝังเป็นทักษะในคนไทยยุคใหม่ ตลอดไปถึงการจะปฏิรูปโครงการสร้างการบริหารการศึกษาที่มุ่งไปสู่การกระจายอำนาจที่แท้จริง ที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วทั่วโลกว่าเป็นปัจจัยหลักที่เอื้อต่อการสร้างการศึกษาคุณภาพสูง

Advertisement

แต่เมื่อคณะยึดอำนาจเข้ามาควบคุมประเทศ กระแสการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังก้าวไปข้างหน้านั้น ได้สะดุดหยุดลงโดยฉับพลัน และแช่เข็งอยู่กับที่ หลักสูตรใหม่ที่เพิ่งยกร่างเสร็จ และพร้อมที่จะประกาศใช้ ได้ถูกห้ามแตะต้องไม่ได้มีการนำมาใช้ ทั้งที่ทางวิชาการทั้งหลายได้ลงความเห็นว่าประเทศไทยต้องการการปฏิรูปหลักสูตร และหลักสูตรใหม่ที่ได้ยกร่างขึ้น ก็ได้ถูกกลั่นกรองสังเคราะห์มาจากนักการศึกษาชั้นยอดทุกระดับ กระแสการปฏิรูปที่เริ่มแล้วจึงถูกติดเบรกจนหัวทิ่ม ซ้ำร้ายกระบวนการบางอย่างที่ได้เกิดขึ้นตามมากลับฉุดรั้งให้การศึกษาไทยถอยหลัง บางอย่างสร้างความเสียหายซึ่งยังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน กลายเป็นความน่าอดสูของสังคมไทย ที่ดูประหนึ่งว่าผู้ที่เข้ามารับผิดชอบในการบริหารประเทศไม่ได้มีความตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ไม่ตระหนักว่าการทำร้ายการศึกษา คือการทำลายอนาคตของชาติ ทั้งไม่สำเหนียกถึงขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศที่ได้สูญเสียไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อันเนื่องมาจากความอ่อนด้อยของคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่เกิดจากการศึกษาที่ล้าหลัง ที่ในที่สุดได้ฉุดรั้งทุกมิติของการพัฒนาของประเทศทั้งเศรษฐกิจ และสังคม

ทศวรรษที่หายไป เริ่มต้นจากการสมนาคุณนายทหารคนแรกที่ไม่รู้เรื่องการศึกษาเลยให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีผู้ขับเคลื่อนการศึกษาของชาติ การศึกษาไทยได้ว่างเปล่ากลายเป็นสุญญากาศเป็นเวลา 354 วัน จึงจำต้องเปลี่ยนเป็นนายทหารอีกคนหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะเข้ามาลบล้างผลงานเปล่าร้างของคนแรกโดยการมุ่งพยายามประดิษฐ์ผลงานต่างๆ จากความเขลา และความไม่รู้ หรืออาจเพียงรู้เท่าไม่ถึงการ แต่ผลของการกระทำเหล่านั้นบางอย่างได้สร้างความเสียหาย โดยไม่แน่ใจว่าตนเองผู้กระทำนั้นตระหนักหรือเข้าใจหรือไม่ ผลงานชิ้นโบว์ดำที่เกิดขึ้นถ้าจะยกมาเพียงสักสองชิ้นก็จะทำให้เห็นความเสียหายของการศึกษาไทยได้พอสมควร

ความเสียหายชิ้นแรกเกิดจากการประกาศลดเวลาเรียนของของการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย รัฐมนตรีผู้นั้นอาจได้ยินคนพูดให้ฟัง หรือไม่ก็อาจทราบจากแวดวงการศึกษาที่ได้มีการถกทางวิชาการก่อนหน้านั้น ว่าเด็กไทยใช้เวลาเรียนมากเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีกว่า สวนทางกับหลักการจัดการศึกษายุคใหม่ที่สอนให้น้อยลงเพื่อให้เรียนรู้ได้มากขึ้น หรือ Teach Less, Learn More (TLLM) ซึ่งเป็นกระแสที่ใช้กันทั่วโลก เด็กไทยเรียนถึงปีละ 1,200 ชั่วโมง ในขณะที่เด็กเกาหลีซึ่งคุณภาพการศึกษาอยู่ในชั้นนำของโลก เรียนกันเพียงปีละประมาณ 600 ชั่วโมง คงด้วยเหตุผลนั้น ท่านจึงได้สั่งให้ทุกโรงเรียนลดเวลาเรียน โดยให้หยุดเรียนตั้งแต่เวลาบ่ายสองโมงทุกวัน

Advertisement

คำสั่งนั้นได้สร้างความเสียหายขึ้นโดยพลัน เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาไทยที่ใช้อยู่ขณะนั้น (รวมมาถึงขณะนี้ด้วย) มีเนื้อหา และออกแบบไว้ให้ต้องใช้ภาระการเรียนการสอนถึงปีละ 1,200 ชั่วโมง จึงจะสามารถครอบคลุมสาระได้ครบถ้วนตามหลักสูตร เมื่อถูกบังคับให้ลดเวลาลงครึ่งหนึ่ง ครูที่สอนมาตามระบบเก่าก็เกิดอาการไปไม่ คุณครูเลยต้องหาทางออกกันต่างๆ นานา ครูส่วนหนึ่งไม่สนใจ ท่านสั่งอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ผลจะเป็นอย่างไร เด็กเรียนได้ครบเนื้อหาหรือไม่ครบ ก็ช่างประไร ขณะที่ครูบางส่วนอาจทนต่อสำนึกความรับผิดชอบไม่ไหว จึงต้องหาทางออกโดยการนัดลูกศิษย์มาสอนพิเศษเพิ่มเติม ผลก็คือความปั่นป่วนมาจนปัจจุบัน และเป็นเหตุให้คุณภาพการศึกษาในภาพรวมด้อยลงไปอีกอย่างเลี่ยงไม่ได้

การลดเวลาเรียนตามหลักการ TLLM นั้น จะลดเวลาลงดื้อๆ ในหลักสูตรรูปแบบเดิมนั้นไม่ได้ ต้องทำอย่างเป็นระบบ คือการออกแบบหลักสูตรใหม่ กำหนดวิธีเรียนวิธีสอนใหม่ให้มีประสิทธิภาพ กำหนดกิจกรรมในห้องเรียนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และอย่างไร รวมทั้ง ใช้เวลาเท่าใด แต่ที่สำคัญต้องกำหนดกิจกรรมนอกห้องเรียนเพื่อที่จะเสริมการเรียนรู้ และฝึกทักษะที่จำเป็นและมีประโยชน์ เวลาแห่งการเรียนรู้จึงต้องเกิดขึ้นทั้งในห้องเรียนซึ่งอาจเน้นศูนย์กลางไปที่ครู และนอกห้องเรียนที่เด็กเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้โดยสิ้นเชิง ทั้งต้องกำหนดวิธีการใหม่ๆ เช่น การเรียนการสอนแบบโครงการ การวิจัยในชั้นเรียน ที่เน้นการค้นหาปัญหา และการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกันเป็นทีม แสวงหาความคิดสร้างสรร การเตรียมเรียนในรูปแบบห้องเรียนผกผัน (Flipped classroom) เป็นต้น หาใช่จะเกิดขึ้นได้โดยการที่อยู่ๆ รัฐมนตรีก็สั่งให้เลิกเรียนครึ่งวันดังที่ได้เกิดขึ้นมานั้น ความเสียหาย และระส่ำระสาย จึงอุบัติในระบบการศึกษาไทยในทันที

ที่ดูจะน่าเวทนาสำหรับการศึกษาไทยมากกว่านั้นคือ แท้ที่จริงแล้วในกระบวนการปฏิรูปหลักสูตรที่ดำเนินมาก่อนการยึดอำนาจนั้น หลักสูตรใหม่ร่างขึ้นมาเสร็จแล้ว โดยได้ออกแบบไว้ตามหลักนั้นทุกประการ ได้มีการละลายเนื้อหาสาระของหลักสูตรสองปีแรกของชั้นประถม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก และกำหนดให้เป็นการเรียนที่ไม่จำเป็นต้องมีการสอบ แต่มีการประเมินผลสัมฤทธิ์โดยวิธีอื่น และที่สำคัญคือได้ออกแบบไว้ให้ใช้เวลาในห้องเรียนเพียงปีละ 660 ชั่วโมง ประกอบกับออกแบบกิจกรรมนอกห้องเรียนไว้ครบถ้วนโดยเน้นการเรียนการสอนแบบโครงการ หลักสูตรนี้พร้อมที่จะนำมาใช้ได้ทันทีหากไม่ถูกยึดอำนาจเสียก่อน

หลักสูตรใหม่เกิดขึ้นมาด้วยความคิด และศรัทธาอันบริสุทธิ์ ที่อยากให้การศึกษาไทยพ้นบ่วงความล้าหลัง แต่หลักสูตรนั้นกลับถูกรัฐบาลยึดอำนาจห้ามนำมาใช้ การสั่งการให้ลดเวลาเรียนบนความไม่รู้ จึงนำมาซึ่งความเสียหายต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เนื่องจากคำสั่งนั้นยังใช้อยู่บนหลักสูตรฉบับเดิม และซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีกลุ่มนักวิชาการที่ทนดูไม่ไหว จึงได้ร่างหลักสูตรขึ้นมาใหม่อีกหลักสูตรหนึ่งร่วมกับสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียกหลักสูตรนี้ว่า “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ซึ่งแท้ที่จริงหลักการ และความคิดรวบยอดของหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ ก็เป็นทำนองเดียวกันกับหลักสูตรใหม่ของรัฐบาลก่อนยึดอำนาจนั่นเอง แต่เมื่อจะนำมาประกาศใช้ หลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น กลับถูกสั่งเบรกโดยนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลสืบทอดอำนาจโดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง และรัฐมนตรีก็ไม่มีความรู้ และความกล้าพอที่จะอธิบายให้นายกรัฐมนตรีเข้าใจ

ความเสียหายประการที่สองที่ได้เกิดขึ้นคือ การสร้างความยุ่งเหยิงสับสนให้แก่ระบบการบริหารการศึกษาส่วนภูมิภาคโดยการนำเอาระบบศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการภาคกลับคืนมา ทับซ้อนกับระบบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งยังมีตัวตนอยู่ ทั้งยังจัดตั้งระบบคณะกรรมการการศึกษาระดับจังหวัดที่มอบหมายงานการศึกษาให้ไปอยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีงานอื่นๆ ล้นมืออยู่แล้ว กลายเป็นโครงสร้างและระบบการบริหารที่ล้าสมัย สร้างสายการบังคับบัญชาเลียนแบบระบบกองทัพ สวนทางกับแนวคิดการประจายอำนาจทางการศึกษาที่อย่างน้อยก็มีความพยายามที่จะให้เกิดขึ้นมาบ้างแล้วก่อนการยึดอำนาจ แม้อาจเดินกันมาแบบถูกบ้างผิดบ้างก็ตาม

การจัดการกับระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการใช้อำนาจ คสช.โดยการออกคำสั่งตามอำนาจของมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งมีศักดิ์เท่ากับการออกพระราชบัญญัติ คำถามที่ย้อนแย้งในขณะนั้นก็คือ คสช.มีอำนาจล้นฟ้า อยากจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ถ้าเช่นนั้นก็น่าจะเป็นเวลาทองของการศึกษาไทยที่อำนาจพิเศษเช่นนั้น จะช่วยแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมาเป็นเวลานานได้ หากใช้คนที่รู้งานรู้ปัญหาว่าจะแก้ได้อย่างไรเข้ามาทำการขับเคลื่อน เหมือนดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่อาศัยโอกาส และช่วงเวลาพิเศษในลักษณะเช่นนี้

แต่สำหรับประเทศไทย เวลาทองนั้นได้หายไปโดยเปล่าว่าง ทั้งกลายเป็นความถอยหลังดังที่กล่าวมา มีคนถามผู้นำประเทศในตอนนั้นว่า ทำไมไม่ถือโอกาสอันดีนั้น ทำอะไรกับการศึกษาไทย คำตอบคือท่านให้ความสำคัญต่อการศึกษาแน่นอน ถึงกับในรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ กำหนดให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องหลักของชาติ ครั้นถูกถามเพิ่มว่าถ้าเห็นว่าการศึกษาสำคัญดังว่า ก็ทำไมไม่เริ่มทำอะไรเสียเลยในตอนนั้น ใช้นาทีทองสี่ห้าปีนั้นให้เป็นประโยชน์ คำตอบก็คือเดี๋ยวรอรัฐธรรมนูญก่อน และต่อมาก็เพิ่มเติมอีกว่า เดี๋ยวรอกฎหมายปฏิรูปการศึกษาก่อน ซึ่งกฎหมายฉบับที่รอ คือ “ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ” ฉบับใหม่นั้น จนบัดนี้ยังเป็นวุ้นอยู่ในรัฐสภา เนื่องจากยังไม่ผ่านกระบวนการ แต่ถึงแม้ว่าหากจะผ่าน ก็ดูจะเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระที่ผู้คนเห็นเป็นปัญหาอยู่มากมายหลายแห่ง จนลงความเห็นกันว่าไม่น่าจะใช้เป็นปูมเพื่อปฏิรูปการศึกษาได้ดังหวัง

เวลาทองที่การศึกษาไทยน่าจะได้รับการแก้ไขจึงหายวับไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ในการหายวับนั้นมีการหยุดนิ่ง และถอยหลัง ซึ่งซ้ำเติมให้การศึกษาไทยย่ำแย่ลงไปอีก

เมื่ออาจจะคิดได้ว่าการให้นายทหารใหญ่บริหารการศึกษานั้น อาจผิดเพี้ยนตั้งแต่ต้น การศึกษาไทยในยุค คสช.ก็ถูกส่งผ่านไปให้รัฐมนตรีพลเรือน ผู้มีประสบการณ์จากการตั้งโรงเรียนที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนมาจาก ท่านมหาฤษี ศรีสัตยา ไส บาบา ศาสดาด้านจิตวิญญาณชื่อดังของอินเดีย เป็นโรงเรียนที่มีความน่าสนใจในวิธีการเพาะบ่มเยาวชนที่ได้เข้าไปศึกษา แต่ที่นักการศึกษาทั้งหลายมีความเป็นห่วงก็คือ ที่ท่านรัฐมนตรีผู้นั้นเคยให้สัมภาษณ์ว่า ต่อไปนี้โรงเรียนสัตยาไสของท่านจะไม่ใช่โรงเรียนทางเลือกอีกต่อไป หากแต่จะต้องเป็นรูปแบบโรงเรียนทางตรง

หลังจากนั้นมา รัฐบาลภายใต้ผู้นำคนเดิมที่สืบทอดมาจาก คสช.ก็เกิดขึ้น และดำเนินต่อมาอีกสี่ปี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2 คน โดยคนแรกต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทะเลาะกับกลุ่ม “นักเรียนเลว” ในสาระที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการศึกษา ส่วนคนที่สองก็ใช้เวลาไปกับการนั่งดูข้าราชการประจำทำอะไรไปเรื่อยๆ เป็นรัฐบาลที่แม้จะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่การศึกษาไทยก็ได้ดำเนินไปแบบไร้นโยบาย ไม่มีเป้าหมาย ไร้ทิศทาง ผลก็คือการศึกษาไทยทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาลไปถึงมหาวิทยาลัยตกต่ำลงไปอีกหลายขุม ไม่ว่าจะเอาตัวชี้วัดใดมาวัดก็ตาม

ทั้งต่อมายังถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบทางลบให้กับระบบการศึกษาที่เลวร้ายอยู่แล้วจนทำให้โงหัวไม่ขึ้น

ขณะนี้เรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ รัฐบาลที่อ้างตนว่าจะนำความหวังมาให้แก่ประเทศชาติ คำถามคือรัฐบาลใหม่นี้จะสามารถนำทศวรรษที่หายไปของการศึกษาไทยกลับมาให้ประชาชนคนไทยได้หรือไม่ และจะพาการศึกษาให้ก้าวหน้านำประเทศให้พ้นจากความมืดมนได้หรือไม่ รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งก็เคยได้จุดประกายให้ความหวังไว้ให้แก่การศึกษาไทย

แต่พอเห็นชื่อคนที่อาจมาเป็นรัฐมนตรีศึกษาก็ดี รัฐมนตรีอุดมศึกษาก็ดี ที่ตอนแรกๆ ดูเหมือนจะออกมาดี แต่ไปๆ มาๆ ชื่อผู้ที่พอเห็นว่าจะเป็นความหวังได้ ก็ถูกโยนไปมา และหายไปจากการศึกษา การศึกษาจึงเป็นแค่การแบ่งเค้กกระทรวงเกรดต่ำทางการเมือง ที่เอาใครก็ได้เข้ามานั่ง อนาคตของเยาวชนของชาติดูจะไม่อยู่ในโจทย์ของการจัดตั้งรัฐบาล แค่นี้ความหนาวก็จับไขสันหลังแล้วละครับ

ฤาเรากำลังจะดำเนินเข้าสู่ทศวรรษที่สอง แห่งความมืดมนของการศึกษาไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image