ขุดซากวัว 800 ปี ในวัดมหาธาตุ ลพบุรี เล็งศึกษา ‘ดีเอ็นเอ’ ไขปริศนาโบราณคดี

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี เผยแพร่ภาพการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีที่บริเวณเจดีย์ทรงปรางค์ยอดกลีบมะเฟือง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เพื่อเก็บกู้โครงกระดูกวัว นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โดยมีนายปริวรรษ เจียมจิตต์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ ประสานงานและสังเกตการณ์

ผศ.ดร.พิพัฒน์เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเอ็นเอ โดยมีหัวหน้าโครงการคือ  รศ.ดร.วรรณรดา สุราช ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เชื่อว่าจะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของมนุษย์

“ซากวัวนี้ มีอายุราว พ.ศ.1700-1800 ผมขุดเจอตั้งแต่ 3 ปีก่อน แต่ในขณะนั้นยังไม่มีแนวทางศึกษาต่อ เลยตัดสินใจกลบไว้ในหลุมตามเดิม ต่อมา ได้พูดคุยกับอาจารย์ วรรณรดาซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านพันธุกรรม เลยมองว่าน่าจะมีการศึกษาดีเอ็นเอวัวตัวนี้ได้

การศึกษาครั้งนี้ มีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงโดยคน กล่าวคือ เมื่อราว 2,000-2,500 ปีมาแล้ว วัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นวัวสายพันธุ์จากจีน ซึ่งไม่มีหนอก ปรากฏว่าพอถึงช่วงต้นพุทธกาล ราว 2,500 ปีลงมา น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพันธุกรรม เพราะตามปราสาทขอม จะพบประติมากรรมวัวแบบที่มีหนอกขึ้นมา ซึ่งเป็นสายพันธุ์อินเดีย ถ้าเราเข้าใจเรื่องดีเอ็นเอของวัว จะทำให้เข้าใจเรื่องการเคลื่อนย้ายของคน การเปลี่ยนแปลงเรื่องชนิดพันธุ์สัตว์อาจเพื่อตอบสนอเรื่องความเชื่อ และระบบปศุสัตว์

Advertisement

วัวคงเหมือนคน คือพอเคลื่อนย้ายมาก็มีการผสมกับพันธุ์พื้นเมือง คำถามคือ วัวจากอินเดียเกิดการผสมกับวัวพื้นเมืองที่มีอยู่ หรือว่าอยู่ๆ เกิดโรคระบาดหรืออะไรก็แล้วแต่ จึงเกิดการแทนที่โดยการนำเข้าวัวจากแหล่งอื่นแทน” ผศ.ดร.พิพัฒน์กล่าว

สำหรับระยะเวลาในการดำเนินงาน ผศ.ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า หลังจากน้ำโครงกระดูกขึ้นมาได้สำเร็จแล้ว กระบวนการต่อไป คือ การนำโครงไปวิเคราะห์ดีเอ็นเอ โดยส่งไปยังห้องแลปที่ ม.เกษตรศาสตร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์

“ในการนำกระดูกมาศึกษาดีเอ็นเอ ต้องทำการบด แนวทางของเราในตอนนี้คือ ก่อนบดจะมีการแสกนรูปแบบ 3 มิติไว้ แล้วนำมาปริ๊นต์ที่ให้เป็นรูปร่างกระดูกเป็นชิ้น เพื่อให้ผู้สนใจศึกษาต่อได้เห็นสภาพที่เคยสมบูรณ์” ผศ.ดร.พิพัฒน์กล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า นอกจากโครงกระดูกวัวที่วัดมหาธาตุ ลพบุรีแล้ว ยังมีอีกหลายแหล่งโบราณคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าวัวเหล่านั้นมีการผสมกับพันธุ์พื้นเมืองหรือไม่ และมีการเคลื่อนย้ายของคนอย่างไร

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image