มติชนมติครู : ประเมินผู้เรียนเชิงรุก ในยุค Active Learning

มติชนมติครู : ประเมินผู้เรียนเชิงรุก ในยุค Active Learning

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดนโยบาย และจุดเน้นประจำปีงบประมาณ 2566 ไว้หลายนโนบาย เพื่อให้สถานศึกษาได้นำไปเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับของครูผู้สอนโดยตรงนั้น ได้แก่ จุดเน้นที่ 6 ที่กล่าวไว้ว่า “ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ (Active Learning) มีการวัด และประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (Assessment for Learning) เพื่อให้เกิดสมรรถนะกับผู้เรียนทุกระดับ”

จากนโยบาย และจุดเน้นดังกล่าว ส่งผลให้ทิศทางการจัดการเรียนการสอนในประเทศไทยในขณะนี้ เป็นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก

ในส่วนของการออกแบบ และการจัดการเรียนรู้ให้เป็นการเรียนรู้เชิงรุกนั้น สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนสถานศึกษาเอง ต่างพากันจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุกในรูปแบบต่างๆ ทั้ง online และ on-site ส่งผลให้ครูทั้งประเทศมีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก

Advertisement

แต่ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูคนหนึ่งในระบบการศึกษาไทย ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า ส่วนใหญ่การจัดอบรมจะเน้นให้ความรู้ในเรื่องของการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ และนำเสนอตัวอย่างกิจกรรมเท่านั้น ไม่ได้ลงลึกในเรื่องของแนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแนวคิด Active Learning ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้ย้อนไปทบทวนความรู้เดิม ตลอดจนสืบค้นความรู้ใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ เกี่ยวกับการวัดและประเมินผล ซึ่งผู้เขียนพบว่า ที่จริงแล้วการวัดและประเมินผลนั้น มีหลากหลายวิธี เช่น การทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ การเขียนสะท้อนผลการเรียนรู้ การประเมินตนเอง ฯลฯ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียน และเพื่อพัฒนาผู้เรียน

จากการวิเคราะห์พบว่า วิธีการวัดและประเมินผลที่ครูนิยมใช้ เช่น การทดสอบ การสังเกตพฤติกรรม ล้วนแล้วแต่เป็นการรอให้ครูผู้สอนประเมินผู้เรียน นับว่าเป็นการประเมินเชิงรับ (Passive assessment) ซึ่งการประเมินเชิงรับก็เป็นวิธีการที่ดี แต่ในยุคที่อะไรๆ ก็เชิงรุก อะไรๆ ก็ Active Learning ครูผู้สอนก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการวัดและประเมินให้เข้ากับยุคสมัยแห่งการเรียนรู้เชิงรุก การให้ผู้เรียนประเมินตนเอง (Self-assessment) เป็นวิธีการประเมินที่ให้ผู้เรียนได้ประเมินตนเองผ่านการเขียน ซึ่งสามารถประเมินตนเองได้ทันทีหลังจากเรียน ซึ่งวิธีการนี้จัดว่าเป็นการประเมินเชิงรุก (Passive assessment) จัดได้ว่าวิธีการนี้เหมาะสมกับยุคสมัยเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

การประเมินตนเองเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ (Self-assessment for improvement) เป็นการประเมินตนเองของผู้เรียน โดยการเขียนพรรณนาตอบคำถามในแบบประเมินตนเอง ซึ่งไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสิน แต่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ เน้นให้ผู้เรียนประเมินตนเอง โดยมีชุดคำถามเป็นตัวช่วยในการสะท้อนคิดเพื่อประเมินตนเอง

ตัวอย่างคำถามที่ผู้สอนใช้กระตุ้นให้ผู้เรียนสะท้อนคิด ประเมิน และตรวจสอบการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.นักเรียนได้เรียนรู้อะไรจากการทำกิจกรรมนี้/การเรียนวิชานี้
2.นักเรียนมีวิธีการเรียนรู้ในเรื่องนี้อย่างไร
3.สิ่งที่นักเรียนทำได้ดีในการเรียนคาบนี้/วิชานี้คืออะไร
4.สิ่งที่นักเรียนควรพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นคืออะไร
5.นักเรียนรู้สึกอย่างไรกับคาบเรียน/วิชานี้ ฯลฯ

ในส่วนของการนำวิธีการประเมินตนเองไปใช้นั้น ผู้เขียนนำไปใช้เมื่อจัดการเรียนรู้ ผ่านไปได้สักระยะหนึ่ง กล่าวคือก่อนสอบกลางภาค ผู้เขียนได้ให้นักเรียนตอบคำถามเพื่อการประเมินตนเองลงในสมุดประจำวิชา โดยก่อนที่จะให้ผู้เรียนประเมินตนเอง ผู้เขียนได้อธิบายความหมาย และความสำคัญของการประเมินตนเองให้ผู้เรียนได้รู้จักก่อน เนื่องจากผู้เรียนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับวิธีการประเมินในรูปแบบนี้ รวมทั้ง อธิบายคำถามเพื่อการประเมินตนเองในภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจ เพื่อให้ผู้เรียนตอบคำถามได้ตรงประเด็น

ตัวอย่างคำตอบของผู้เรียนจากคำถามที่ว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเรียนวิชาหลักภาษาไทย “คำศัพท์ที่เคยเขียนไม่ถูกก็เขียนถูก คำที่ไม่รู้ความหมายก็รู้ความหมาย”, “ได้แนวทางการทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย”, “รู้ความหมายของคำศัพท์มากขึ้น เขียนคำศัพท์ภาษาไทยได้ถูกต้อง ใช้คำคล้ายความหมายต่างได้ถูกต้อง”, “ได้เรียนรู้คำแปลกๆ หลายคำ คำจากภาษาอื่นที่เราเข้าใจอยู่แล้ว แต่พอเปลี่ยนเป็นคำในภาษาไทย บางคำไม่คุ้นหูเลย แปลกไปเลย ซึ่งเป็นอะไรที่เปิดโลกภาษาไทยมาก”

สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการให้ผู้เรียนประเมินตนเองนั้น ประการที่ 1 คือครูผู้สอนได้เรียนรู้ความคิดของผู้เรียน ได้รับรู้มุมมองของผู้เรียน ได้รู้ว่าผู้เรียนเข้าใจ ไม่เข้าใจเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งครูผู้สอนสามารถนำข้อมูลจากการประเมินตนเองของผู้เรียนนี้ ไปพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของตัวครูผู้สอนเอง ทั้งนี้ คำตอบของผู้เรียนนั้น อาจจะไม่ได้สะท้อนความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนที่มีต่อเนื้อหาสาระที่เรียนโดยตรง แต่มักสะท้อนการเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่า ประการที่ 2 คือผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการประเมินตนเอง ได้ฝึกทักษะการสะท้อนคิด ได้สะท้อนผลการเรียนรู้ และทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ อีกทั้ง ยังได้พัฒนาทักษะการเขียนสื่อสารอีกด้วย

ล่าสุด สพฐ.มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2566 เรื่องซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวชี้วัดระหว่างทาง และตัวชี้วัดปลายทางฯ ซึ่งมีเนื้อหาความตอนหนึ่งที่น่าสนใจว่า “…ตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และเน้นการประเมินในระหว่างการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ที่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียนเป็นหลัก (Formative Assessment) ผ่านมโนทัศน์ของการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ (Assessment for learning) และการประเมินขณะเรียนรู้ (Assessment as learning) ด้วยวิธีการประเมินที่หลากหลาย โดยเน้นการวัดและประเมินผลแบบไม่เป็นทางการ (Informal Assessment) เช่น การสังเกตพฤติกรรม การสอบปากเปล่า การพูดคุย การใช้คำถาม การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ การประเมินตนเอง เพื่อนประเมินเพื่อน เป็นต้น…”

จากข้อความดังกล่าวข้างต้น เป็นการเน้นย้ำให้เห็นกันชัดๆ ว่า การประเมินตนเองเป็นหนึ่งในวิธีการประเมินผู้เรียนที่ สพฐ.แนะนำ มีความน่าสนใจ และเหมาะสมกับยุคสมัยที่อะไรๆ ก็ Active Learning

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image