ที่มา | คอลัมน์ "รายงานการศึกษา" |
---|
รายงานการศึกษา : ค่ายตะวันฉาย..ช่วยยกคุณภาพชีวิตผู้ป่วยฯ
มูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขอนแก่น จัด “ค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตน้องตะวันฉาย” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ใช้ดำเนินงาน 2 วัน 1 คืน มีผู้เข้าร่วมโครงการคือ “น้องตะวันฉาย” อายุ 7-18 ปี จำนวน 38 คน และครอบครัวน้องตะวันฉาย 51 คน ทีมวิทยากร และเจ้าหน้าที่ 30 คน มี รศ.ดร.ทพญ.ทัศนีย์ วังศรีมงคล กรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ กล่าวรายงาน ว่าที่ ร.อ.พงเจตน์ พรกุณา ปลัด อบจ.ขอนแก่น เป็นประธานในพิธี ที่ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โอเทล อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้
รศ.ดร.ทพญ.ทัศนีย์ กล่าวว่า โครงการนี้จัดเพื่อพัฒนาการบริการที่สมบูรณ์แบบในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า ให้สมบูรณ์แบบครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา การดำรงชีวิต สังคม และการเสริมสร้างพลังอำนาจในตนเอง รวมถึง เพื่อให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตนเอง มีความมั่นใจในการเข้าสังคมมากขึ้น รวมทั้ง ตั้งเป้าหมายชีวิต และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ นอกจากนี้ ยังเป็นปีแรกที่แต่งตั้งทูตตะวันฉาย ซึ่งจะได้รับทุนการศึกษาทุนละ 5,000 บาท
ว่าที่ ร.อ.พงเจตน์ พรกุณา ปลัด อบจ.ขอนแก่น กล่าวว่า การบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ฯ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ 4 เรื่องการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม ขณะเดียวกันยังเป็นไปตามแผนแม่บทที่ 13 เรื่องการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี และสอดคล้องกับแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และกรอบแนวทางการพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น พ.ศ.2566-2570 ในประเด็นการพัฒนาที่ 4 การพัฒนาสังคมสุขภาวะให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ตามแนวทางการพัฒนาที่ประกอบด้วย การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัยให้มีสุขภาวะและความเป็นอยู่ดี การส่งเสริมสวัสดิการและการพัฒนาทักษะด้านการประกอบอาชีพให้มีรายได้อย่างยั่งยืน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาชุมชน เป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดี
ซึ่งกิจกรรมการเข้าฐานของผู้ป่วย ประกอบด้วย ฐานที่ 1 ศัลยกรรมตกแต่ง โดยกิจกรรมจะประเมินภาพลักษณ์ใบหน้าของผู้ป่วยเพื่อแก้ไขปัญหา หรือความบกพร่องทางศีรษะและใบหน้าเพิ่มเติม โดยทีมศัลยแพทย์ตกแต่งคณะแพทยศาสตร์ มข.และถ่ายภาพท่ามาตรฐาน
ฐานที่ 2 ทันตกรรมจัดฟัน เน้นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย ทั้งการตรวจสุขภาพช่องปาก และแนะนำวิธีการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกต้อง โดยทีมทันตแพทย์จัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มข.
ฐานที่ 3 ฉันคือเพื่อนที่ดีที่สุดของตัวเอง รู้จัก และทำความเข้าใจตนเองเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น สร้างความสุขทั้งกาย และใจ ด้วยการคิดใหม่ทำใหม่ โดยนักจิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มข.
ฐานที่ 4 พลังเชิงบวก เสริมพลังเชิงบวกเพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจ และพัฒนาบุคลิกภาพนำไปสู่การเข้าสังคม โดยอาจารย์ และนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข.
และ ฐานที่ 5 Adventure in English โดยจิตอาสา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.
นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ช่วยยกระดับชีวิตคุณภาพ ของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า