ศธ.เร่งถอดบทเรียน ‘เยาวชน’ ก่อเหตุยิงในห้าง ‘โฆษกฯ’ ขออย่าด่วนสรุปว่าเหตุมาจากเกม

ศธ.เร่งถอดบทเรียน เด็ก14 ควงปืนบุกยิงคนกลางห้างดัง ผอ.สพม. ลงพื้นที่ กำชับร.ร.ดูแลสภาพจิตใจเด็ก-ครู ตรวจสอบการพกพาอาวุธเข้าร.ร. 

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. แถลงข่าวกรณี กรณีเด็กชายอายุ 14 ก่อเหตุ ใช้อาวุธปืนยิงคนในห้างดัง เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายนั้น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ.ขอแสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บทุกคน

ซึ่งหลังจากทราบเหตุ ศธ.ก็ได้มีการติดตามสถานการณ์ โดยจากการตรวจสอบ เด็กที่ก่อเหตุ เป็นนักเรียนศูนย์การศึกษาทางเลือก เป็นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ภายใต้พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งศธ. มีหน้าที่อนุมัติการเรียนการสอน โดยพิจารณาจากหลักสูตรแกนกลาง ส่วนรูปแบบการเรียนการสอนขึ้นอยู่กับโรงเรียนแต่ละแห่งจะกำหนดร่วมกัน โดยโรงเรียนลักษณะดังกล่าว มีอยู่กว่า 2,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ เฉพาะในกรุงเทพฯ มีอยู่กว่า10 แห่ง การเรียนการสอนจะแบ่งเป็นกลุ่ม เช่น เน้นการจัดการเรียนการสอนสู่ความเป็นเลิศ หรือกลุ่มที่มีเงื่อนไขที่ผู้ปกครองต้องจัดการเรียนการสอนกันเอง

โฆษกศธ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ก็ต้องให้ศธ. ต้องมีการถอดบทเรียน ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอะไร ศธ.เองยังไม่ด่วนสรุป และยังไม่ด่วนโทษว่าเป็นความผิดของผู้ใด หน่วยงานใด หรือเป็นความผิดของสิ่งใด แต่สิ่งที่สำคัญและจำเป็นคือ การหาเหตุจูงใจเพื่อถอดบทเรียน แล้วนำมาสู่การป้องกันและแก้ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

Advertisement

“เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)กรุงเพทฯ เขต 1 ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เด็กคนดังกล่าวมีปัญหาทางสภาพจิต แต่ก็ไม่สามารถที่จะฟันธงได้จากคำให้การของผู้บริหารเพียงคนเดียว และยังไม่สามารถโทษว่าเป็นความผิดของสถานศึกษาที่ประกอบการเรียนการสอน แต่วันนี้เมื่อผู้เยาว์ก่อเหตุ ก็เป็นเรื่องที่ศธ.ต้องทำความเข้าใจ ว่าเด็กที่ก่อเหตุ เป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนตัวผมมองว่าเป็นโอกาส ที่ถอดบทเรียน หามาตรการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก เพราะในความเป็นจริงเหตุการณ์ในลักษณะนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในทุกระบบการศึกษา ซึ่งมีการพูดคุยในเรื่องการดูแลสภาพจิตใจเด็กในระบบทั้งผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งต้องยอมรับว่า เด็กและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในสภาวะที่เครียด และกดดันเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาศธ. พยายามอบรม ให้ความรู้ หากิจกรรมที่แตกต่างหลายหลายเพื่อลดทอนความเครียด สำหรับหน่วยงานใต้สังกัดศธ. ผมคิดว่า สามารถดูแลได้โดยง่ายเพราะเป็นหน่วยใต้สังกัดที่บังคับบัญชาได้ แต่สำหรับหน่วยงานที่ศธ.มีหน้าที่แค่กำกับดูแล ผมคิดว่า อาจจะต้องหาข้อข้อตกลงร่วมกัน” นายสิริพงศ์

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางเขตพื้นที่ฯยังได้รายงานว่า มีการสอบถาม ผู้ปกครองเบื้องต้น แต่ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมมากเท่าไรนัก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นสิทธิของผู้ปกครอง ที่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูล ในส่วนของศธ. ก็ทำหน้าที่แสดงความห่วงใย และได้ลงพื้นที่ซึ่งจากข้อมูล ก็พบว่า โรงเรียนดังกล่าว ไม่ได้ขอจัดตั้งเป็นโรงเรียน แต่เป็นศูนย์การเรียน ที่ค่อนข้างมีความพร้อม มีนักเรียนกว่า 800 คน ครูผู้สอนกว่า 115 คน อัตราครูต่อนักเรียนอยู่ที่ 1:7 ถือว่าให้ความเข้มข้นอัตราครูและนักเรียนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เป็นโรงเรียนที่มีค่าเทอมค่อนข้างสูง

Advertisement

อย่างหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มีค่าเล่าเรียนกว่าเทอมละกว่า 1 แสนบาท และถ้าเป็นหลักสูตรภาษอังกฤษจะมีค่าเล่าเรียนกว่า 3 แสนบาท แต่จะแตกต่างกับโรงเรียนนานาชาติที่จะมีกฎระเบียบเข้ามากำกับดูแล และทราบว่าโรงเรียนดังกล่าวมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการศธ. เป็นหนึ่งในผู้บริหารโรงเรียน แต่เบื้องต้นยังไม่ได้มีการพูดคุย แต่หากจะมีการพูดคุยคงเป็นในระดับผู้ใหญ่ ซึ่งเข้าใจว่าโดยส่วนตัวนพ.ธีระเกียรติ เองก็เป็นคนเก่ง มีความรู้มาก และคงกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนรายละเอียดต่างๆ ยังไม่อยากให้ด่วนสรุป คงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนกรณีที่มีกระแสว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กก่อเหตุมาจากการติดเกม ส่วนตัวก็ไม่อยากให้ด่วนสรุปเช่นนั้น แต่สิ่งหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะสถานศึกษาเท่านั้น แต่ควรจะเป็นผู้ปกครองและคนในสังคมทุกคน ต้องเข้ามาช่วยกัน ดูแลการเข้าถึงสื่อทุกประเภทไม่ใช่เฉพาะเกม แต่รวมถึงภาพยนตร์ซึ่งจะมีเรตมาตรฐานกำกับอยู่ ดังนั้นแต่ละครอบครัว ควรจะให้คำแนะนำเยาวชนในการเข้าถึงสื่อแต่ละประเภทตามช่วงอายุที่กำหนด เพราะบางครั้งผู้ปกครองเองอาจมีการหลงลืม

สำหรับการปรับหลักสูตร นั้น รัฐมนตรีว่าการศธ. มีนโยบายอยากให้เน้น ในเรื่องเรียนดี มีความสุข สร้างทักษะให้เด็กได้รับการแนะแนวทั้งจากครอบครัวและครู ให้เขาเรียนไปแล้วสามารถประกอบอาชีพดูแลตัวเองได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันยังเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพจิตโดยได้ ทำบันทึกข้อตกลงกับกรมสุขภาพจิต ให้เข้ามาช่วยให้ความรู้กับบุคลากร ให้รู้วิธีติดต่อสื่อสารสังเกตอาการเด็กเพื่อจะได้สื่อสารกับผู้ปกครองอย่างตรงไปตรงมา โดยก่อนหน้านี้ยังพูดถึงโรงเรียนของผู้ปกครองที่จะให้คำแนะนำสนับสนุนการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและเด็กอย่างมีความสุข

“ในส่วนของคดีความ ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากว่า ผู้ปกครองไม่มีความสามรถในเรื่องของการต่อสู้คดีและปกป้องสิทธิ ศธ.ก็อาจต้องเข้าไปช่วยดูแล แต่โดยหลักการเรื่องของกฎหมายก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศธ.มีหน้าที่กำกับดูแลควบคุมให้การสนับสนุนในเรื่องการจัดการศึกษา ” นายสิริพงศ์

ด้าน นายนิยม กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนพบว่า ขณะนี้โรงเรียนอยู่ระหว่างปิดภาคเรียน โดยเด็กมีประวัติการรักษาทางจิต ซึ่งทางโรงเรียนมีการประสานกับผู้ปกครองมาโดยตลอด ทั้งนี้โรงเรียนดังกล่าว ถือเป็นโรงเรียนทางเลือก ซึ่งตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 สมาคม หรือสถานประกอบการสามารถเปิดศูนย์การเรียนได้ เป็นการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งยืดหยุ่นทั้งวิชาเรียน เนื้อหา และการวัดผลประเมินผล

ส่วนจะสามารถเพิกถอนการจัดตั้งได้หรือไม่นั้น ศธ. มีอำนาจควบคุมเรื่องวิชาการ และการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนเท่านั้น และกรณีนี้ ยังไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่า โรงเรียนมีความผิด หรือมีส่วนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงได้เน้นย้ำให้โรงเรียนดูแลความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้นักเรียนพกพาอาวุธเข้ามาในโรงเรียนร่วมถึงอยากให้ช่วยดูแลสภาพจิตใจ นักเรียนและครู หากพบเด็กที่มีปัญหาสภาพจิตใจ ครูก็จะต้องดูแลและประสานกับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image