มจพ.แถลงความสำเร็จ พร้อมปล่อยดาวเทียม ‘แนคแซท 2’ ขึ้นสู่อวกาศต้นปี’67

มจพ.แถลงความสำเร็จ พร้อมปล่อยดาวเทียม ‘แนคแซท 2’ ขึ้นสู่อวกาศต้นปี’67

ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวในการเป็นประธานแถลงข่าวส่งดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) ขึ้นสู่วงโคจร โดยมี ดร.พงศธร สายสุจริต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และหัวหน้าโครงการ กล่าวถึงความเป็นมาของการดำเนินโครงการดาวเทียม KNACKSAT-2 และแนะนำภารกิจของดาวเทียม พร้อมด้วยทีมนักวิจัยโครงการดาวเทียมแนคแซท ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน มจพ.เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ดาวเทียมแนคแซท 2 เป็นโครงการดาวเทียมคิวบ์แซท (CubeSat) ขนาด 3U (30x10x 10 ซม.) พัฒนาโดย มจพ.เป็นดาวเทียมที่มีรูปแบบ Ride Sharing Platform หรือการแชร์พื้นที่ใช้สอยบนดาวเทียมร่วมกัน

“โดยดาวเทียม KNACKSAT-2 มีพื้นที่ในการบรรจุเพย์โหลด (Mission Payload) หรืออุปกรณ์เพื่อปฏิบัติภารกิจถึง 7 ระบบ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ ให้สามารถเข้าถึงอวกาศได้ง่ายขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.ดร.สมฤกษ์ กล่าว

Advertisement

ศ.ดร.สมฤกษ์กล่าวอีกว่า โดยเพย์โหลดทั้ง 7 ระบบนี้ เป็นโครงการความร่วมมือพัฒนาระหว่าง มจพ.กับหน่วยงานภายนอก 7 หน่วยงาน ทั้งใน และต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัย Universiti Teknologi MARA (UiTM) ประเทศมาเลเซีย มหาวิทยาลัย University of Perpetual Help System Dalta (UPHSD) ประเทศฟิลิปปินส์ โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัยระบบราง มจพ.

ศ.ดร.สมฤกษ์กล่าวต่อว่า โดยแต่ละเพย์โหลดมีวัตถุประสงค์ และภารกิจที่แตกต่างกัน ดังนี้ สาธิตการทำงานของ IoT gateway และภารกิจ Store and Forward บนอวกาศ สาธิตการติดตามตำแหน่งและความเร็วของรถไฟไทยผ่านดาวเทียม ทดสอบการถ่ายภาพความละเอียดสูงจากอวกาศ ทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันรังสีจากอวกาศที่ส่งผลกระทบต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทดสอบวัสดุและอุปกรณ์ Commercial off-the-shelf ในอวกาศ

Advertisement

“ดาวเทียม KNACKSAT-2 เป็นหนึ่งความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ซึ่งนอกจากภาคการศึกษา และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแล้ว KNACKSAT-2 ยังพัฒนาเพื่อสร้างตัวอย่างการใช้งานเชิงธุรกิจ ซึ่งได้รับการจัดสรรทุนจากหน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และมีบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้ร่วมทุนในการวิจัยและพัฒนาระบบ IoT แบ่งเป็น 2 เพย์โหลด คือ สาธิตการทำงานของ IoT gateway และภารกิจ Store and Forward บนอวกาศ เพื่อสามารถรับสัญญาณ LoRa จากสถานีบนโลกได้” ศ.ดร.สมฤกษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมฤกษ์กล่าวอีกว่า มจพ.มีกำหนดการนำดาวเทียม KNACKSAT-2 ออกจากประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำส่งเข้าสู่วงโคจรจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ช่วงต้นปี 2567 โดยความร่วมมือระหว่าง มจพ. บริษัท NBSPACE มหาวิทยาลัย Kyushu Institute of Technology (KYUTECH) และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image