มฟล.ร่วมขับเคลื่อน ‘เชียงราย’ โกอินเตอร์ หลังยูเนสโกประกาศเป็น ‘เมืองสร้างสรรค์’ ดันเทศกาลนานาชาติ-แฟชั่นวีค

มฟล.ร่วมขับเคลื่อน ‘เชียงราย’ สู่ระดับนานาชาติ หลังยูเนสโกประกาศ ‘เมืองสร้างสรรค์’ เล็งตั้ง ‘ดีไซน์สคูล’ เดินหน้าจัดเทศกาลนานาชาติ-แฟชั่นวีค-ดนตรี-วรรรณกรรม

รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง และอาจาร์ประจำสำนักวิชาศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ผู้ร่วมขับเคลื่อนให้ จ.เชียงราย ได้รับการประกาศรับรองจากยูเนสโก เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 กล่าวว่า แนวคิดเมืองสร้างสรรค์เริ่มต้นจากเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก โดยเมื่อปี 2562 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้ประเมินว่า จ.เชียงราย ควรเป็นเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก โดย มฟล.ได้ร่วมขับเคลื่อนเรื่องเมืองสร้างสรรค์ จึงร่วมกับ อพท.จัดเวิร์กช้อป ระดมความคิดเห็นว่าเมื่อเป็นเมืองสร้างสรรค์ จะได้ประโยชน์อะไร และช่วยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร ซึ่งมีคำตอบว่า 1.แก้ปัญหาความยากจน 2.ยกระดับความเท่าเทียมทางเพศ เด็ก กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และคนไร้รัฐ 3.การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG จะพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างมีทิศทาง และ 4.ดูแลแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

“เชียงรายต้องการเครื่องมือจากเมืองสร้างสรรค์มาช่วย โดยเชียงรายมีชนชั้นสร้างสรรค์เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่ง มฟล.มีงานวิจัยรองรับ ทั้งนี้ ชนชั้นสร้างสรรค์ คือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เกษตรกรลดลง การลงทุนด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น มากกว่ารายได้จากเกษตรกรรม และในช่วงปี 2559 ปี 2560 ปี 2561 คนรุ่นใหม่กลับบ้านมากขึ้น กลับมาทำธุรกิจที่บ้าน เป็นไฮโซคืนถิ่น ประกอบกับเชียงรายมีศักยภาพในหลายสาขา ซึ่ง อพท.มองถึงงานหัตถกรรมและงานพื้นบ้าน งานดีไซน์ แต่เมื่อประเมินศักยภาพความพร้อม ไม่พบว่ามีชุมชนหัตถกรรมพื้นบ้านที่ยาวนาน จึงไปดูงานที่ จ.ภูเก็ต สุดท้ายมาลงที่งานดีไซน์ เป็นครีเอทีฟซิตี้ คือ พัฒนาเมือง แก้ปัญหาเมือง และออกแบบเมือง ฉะนั้น เซอร์วิสดีไซน์น่าจะสำคัญ โดยเชียงรายมีความพร้อมกว่าที่อื่นๆ จึงถูกเสนอชื่อเมื่อปี 2564 แต่มีเงื่อนไขว่าเมืองต้องมีเทศกาลนานาชาติ แต่เชียงรายไม่มี จึงตกไป” รศ.ดร.พลวัฒ กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.พลวัฒกล่าวอีกว่า ทางจังหวัดได้เสนอ จ.เชียงราย อีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยโครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยมุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโมเดล บวกกับศิลปินกลับบ้านเยอะ และทำงานร่วมกับเทศบาลต่างๆ เพื่อช่วยกันเปลี่ยนแปลงเมือง ปั้นผู้ประกอบการ ทำงานเซอร์วิสดีไซน์ เน้น Wellness หรือการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทุกคนคือนักออกแบบ หรือ vernacular design โดยชาวบ้านเป็นนักออกแบบเพื่อแก้ปัญหาตัวเอง แก้ปัญหาชีวิต และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

“เมื่อเชียงรายได้รับการประกาศรับรองจากยูเนสโก ให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก ซึ่งเป็นเพราะโปรเจ็กต์ดอยตุง ที่สร้างแบรนด์ระดับโลก เพราะการเสนอตัวเป็นเมืองสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่แต่งตัวสวยๆ แต่ต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำได้จริง และมีอิมแพก” รศ.ดร.พลวัฒ กล่าว

รศ.ดร.พลวัฒกล่าวอีกว่า เมื่อ จ.เชียงราย ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ มีคำถามว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป สิ่งที่เป็นสัญญาประชาคม และจะต้องทำ คือ 1.จะตั้งโรงเรียนออกแบบ หรือดีไซน์สคูล โดยใช้โรงเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นฐาน สร้างคนเพื่อขับเคลื่อนเมือง และเป็นเครื่องมือผลักดันให้เกิดผล 2.ทำงานร่วมกับชาวบ้าน ชุมชน และคนยากจน ด้านการศึกษา และสร้างดีไซน์คอมมูนิตี้ที่เชียงแสน นอกจากนี้ ต้องจัดเทศกาลนานาชาติ แฟชั่นวีค ยกระดับเรื่องทอผ้า เพราะถ้าทอผ้าได้ก็พึ่งตนเองได้ ยกระดับคุณภาพผู้หญิง และอีกหลายๆ โปรเจ็กต์ เช่น ดนตรี วรรณกรรม เป็นต้น ที่สำคัญต้องสร้างคนทำงานในระดับนานาชาติ เพื่อให้เมืองเข้าสู่สารบบนานาชาติได้

Advertisement

“สำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการเสนอเป็นเมืองสร้างสรรค์ จะต้องร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยทำงานร่วมกันในรูปแบบคณะกรรมการร่วมกับเมืองต่างๆ” รศ.ดร.พลวัฒ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image