สกศ.เร่งวิเคราะห์แนวทาง OECD จัดทำข้อเสนอปฏิรูปฯ-กำหนดเข็มทิศเรียนรู้ ‘ฉีกความเชื่อ-กรอบสอนเดิม’

สกศ.เร่งวิเคราะห์แนวทาง OECD จัดทำข้อเสนอปฏิรูปฯ-กำหนดเข็มทิศเรียนรู้ ‘ฉีกความเชื่อ-กรอบสอนเดิม’ รองรับโลกใหม่

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และคณะ เข้าร่วมประชุมการศึกษาและทักษะแห่งอนาคตในปี 2030 ครั้งที่ 5 (5th Global Forum of Future of Education and Skills 2030) ในฐานะผู้แทนด้านการศึกษาภาครัฐของประเทศไทย ที่กรุงบูคาเรสต์ สาธารณรัฐโรมาเนีย โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD และกระทรวงศึกษาธิการโรมาเนีย เป็นเจ้าภาพ เพื่อให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันวิเคราะห์ความท้าทายด้านการศึกษาในระยะยาว ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องพัฒนาทักษะ และมีเข็มทิศเพื่อกำหนดทิศทางการเรียนรู้ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของนักเรียน ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง หรือ เรียนดี มีความสุข

“เป้าหมายของการจัดประชุมครั้งนี้ คือการสร้างวิสัยทัศน์ และพัฒนารายละเอียดของเข็มทิศการเรียนรู้ (Learning Compass 2030) ของ OECD ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ครอบคลุม และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเน้นประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) เพื่อส่งเสริมการศึกษาในโลกยุคใหม่ที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ เข็มทิศการเรียนรู้จะเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้ และพัฒนาทักษะ เพื่อให้ใช้นำทางในโลกที่ซับซ้อน และไม่แน่นอนได้ อย่างมีความหมาย และรับผิดชอบ ซึ่งฉีกออกจากความเชื่อ และกรอบแนวทางเดิมเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่มีลักษณะการสื่อสารทางเดียว โดย OECD มองว่าการเรียนรู้ที่มีความหมาย และแท้จริงนั้น เกิดขึ้นผ่านกระบวนการเรียนรู้ซ้ำๆ ซึ่งช่วยให้เยาวชนพัฒนาความคิด และการกระทำของตนเองได้อย่างเหมาะสม ต่อเนื่อง ผ่านวงจรการเรียนรู้ 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ความคาดหวัง 2.การกระทำ และ 3.การสะท้อนความคิด โดยมีครู และครอบครัว เป็นผู้ช่วยประคับประคอง ให้คำปรึกษา และเรียนรู้ไปด้วยกันได้” ดร.อรรถพล กล่าว

ดร.อรรถพลกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สกศ.ในฐานะหน่วยงานด้านการศึกษาไทย และเข็มทิศการศึกษาของประเทศไทย ได้ร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางการศึกษาของประเทศในประเด็นต่างๆ อาทิ 1.วิธีสร้างการCritical Thinking ในสาระวิชา และหลักสูตรวิทยาศาสตร์ และศิลปะ 2.ทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 3.หลักสูตรการเรียนแบบ STEM/STEAM 4.การใช้ Generative AI ในห้องเรียน 5.การพัฒนาทักษะทางอารมณ์ และสังคม และ 6.การกำหนดเข็มทิศการศึกษาเพื่อการสอนที่มีคุณภาพในโลกแห่งความผันผวน

Advertisement

“ข้อสังเกตสำคัญจากการประชุม ที่นำมาปรับใช้ในการดำเนินงานตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษา และการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพในโลกที่ซับซ้อนผันผวนได้นั้น จะต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาในมิติต่างๆ ได้แก่ 1.มิติคุณค่า 2.ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิต และพัฒนาครู รวมถึง การแก้ปัญหาต่างๆ ของครูด้วย 3.การสร้างความร่วมมือ และเสริมพลังให้กับบุคคลแวดล้อมที่สำคัญ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเรียนรู้ 4.ผลการศึกษา ข้อค้นพบ ข้อมูลใหม่ๆ และตัวเลขสถิติขององค์กรระหว่างประเทศที่นำเสนอในช่วงของการประชุม รวมถึง ผลการทดสอบ PISA ที่ประกาศผล และเชื่อมโยงในบางประเด็นเข้ากับสาระสำคัญในการประชุมในครั้งนี้ มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้เหตุผล การตีความการอธิบาย และการนำผลการศึกษา และการทดสอบเหล่านั้น ไปใช้ปรับปรุงแก้ไข และปฏิรูปการศึกษาในเชิงสร้างสรรค์ต่อไปได้ โดยระดับนโยบายอาจต้องทบทวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เพื่อได้ทราบข้อมูลที่สำคัญ ความก้าวหน้า แนวโน้ม หรือการสนับสนุนด้านการปฏิรูปการศึกษา และการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเท่าทันอีกด้วย” ดร.อรรถพล กล่าว

ดร.อรรถพลกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สกศ.จะศึกษาประเด็นเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ OECD เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย เพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับคำแนะนำด้านเนื้อหาของวิชาการ และการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทั้งทางร่างกาย และจิตใจต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image