รายงานพิเศษ : เดินเครื่อง ซอฟต์เพาเวอร์ ดันวัฒนธรรมไทย โกอินเตอร์

เดินเครื่อง ซอฟต์เพาเวอร์ ดันวัฒนธรรมไทย โกอินเตอร์ งานหินพิสูจน์ฝีมือ เสริมศักดิ์

ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2567 หลังการเลือกตั้งใหญ่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 กระทั่งได้เห็นหน้าค่าตารัฐบาลใหม่ ที่มีพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำจัดตั้ง และมี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา บรรยากาศการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เริ่มคึกคัก เพราะถูกยกให้เป็นพี่ใหญ่ในการขับเคลื่อนนโยบาย ซอฟต์เพาเวอร์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ พท.ที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง โดยได้ส่ง นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ วธ.

ซึ่งในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ วธ.มี นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการ วธ.ที่อำลาตำแหน่งแบบไม่ค่อยสวยงามนัก โดยยังคงต้องสู้คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จากการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร โครงการวอร์เตอร์ฟรอนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนซ์ โดยมิชอบ ซึ่งคดีไปค้างอยู่ที่ ป.ป.ช.นานกว่า 14 ปี ก่อนจะชี้มูลความผิดในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ วธ.ก่อนคดีจะหมดอายุความในวันที่ 10 กันยายน 2566

Advertisement

นายอิทธิพล หรืออดีตรัฐมนตรีติ๊ก นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ วธ.ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2562 และพ้นจากตำแหน่งในเดือนกันยายน 2566 รวมเวลากว่า 4 ปี

ช่วงต้นปี 2566 วธ.โดยการนำของนายอิทธิพล ได้ชูธง Restart ประเทศไทย ขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจ ด้วยวัฒนธรรม เร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และสังคมสู่ความมั่นคง และยั่งยืน แต่ก็ดูเหมือนว่า 8 เดือนสุดท้ายในตำแหน่ง จะไม่ค่อยเห็นผลงานเท่าที่ควร โดยเฉพาะผลงานใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่เข้าตากรรมการเท่าที่ควร ก่อนจะต้องส่งไม้ต่อให้นายเสริมศักดิ์ เข้ารับตำแหน่งในช่วงเดือนกันยายน หลัง พท.ได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่…

ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง นายเสริมศักดิ์ตีปี๊บ ขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ พร้อมสืบสาน รักษา ต่อยอด โดยจะขับเคลื่อนนโยบายรองรับ THACCA (Thailand Creative Content Agency) และการขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก โดยดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับ วธ.เพื่อจะขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมให้เกิดกับประชาชนมากที่สุด

Advertisement

พร้อมประกาศแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 1.สำรวจ รวบรวมข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดใน 10 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และผลักดันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ 2.สำรวจ และพัฒนาแรงงานด้านวัฒนธรรมให้มีทักษะสูง รองรับความต้องการของตลาด 3.บริหารจัดการพื้นที่ และเครือข่ายทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อพัฒนาศักยภาพเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ และพลังทางวัฒนธรรม 4.ยกระดับงานวัฒนธรรมเดิมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 5.ส่งเสริมเทศกาลประเพณีของชาติ และเทศกาลอื่นๆ ด้านวัฒนธรรม ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

6.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ 7.สร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน และเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ จากการจำหน่ายสินค้า และบริการทางวัฒนธรรม 8.นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการต่อยอดงานวัฒนธรรม 9.อนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมงานวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติ ให้คงคุณค่า และเนื้อหาสาระของวัฒนธรรมอันดีงามของไทย และ 10.เปิดพื้นที่สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ และแสดงออก นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ทั้งนี้ หากให้ประเมินผลงาน 3 เดือนแรกของรัฐมนตรีเสริมศักดิ์ แม้จะยังไม่โดดเด่น แต่ก็เรียกว่าน่าจับตา เพราะมีเรื่องน่ายินดีให้คนไทยได้ปลาบปลื้ม แม้จะไม่ใช่ผลงานของรัฐบาล พท.โดยตรง แต่หวังว่าความสำเร็จที่ วธ.ได้รับในปี 2566 จะเป็นแรงกระตุ้นให้ทีมรัฐมนตรี วธ.เร่งเครื่องทำงานตามเป้าหมาย ผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ตามนโยบายที่ประกาศไว้

เรื่องน่ายินดีส่งท้ายปีกระต่าย ต้อนรับปีมังกร คงหนีไม่พ้น องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกของไทยถึง 2 รายการ คือ เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม แหล่งที่ 4 ของประเทศไทย หลังเว้นว่างไปกว่า 31 ปี

ซึ่งก่อนหน้านี้เคยขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้ 3 แหล่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534 และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 2535

โดยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียน สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Songkran in Thailand Traditional Thai New Year Festival)

ส่วนปี 2568 ยังมีลุ้น ต้มยำกุ้ง ที่จ่อคิวเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และ ผ้าขาวม้า เป็นรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่เตรียมเสนอขึ้นบัญชีกับยูเนสโกในลำดับถัดไป…

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในอนาคต จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ขึ้นบัญชีในปี 2547 2.วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ขึ้นบัญชีในปี 2555 3.อนุสรณ์สถานแห่งต่างๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงแห่งล้านนา ขึ้นบัญชีในปี 2558 4.พระธาตุพนม และสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง ขึ้นบัญชีในปี 2560 และ 5.แหล่งมรดกวัฒนธรรมปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด ขึ้นบัญชีในปี 2562

ก่อนหน้านั้น ยูเนสโกยังประกาศผลการรับรองเมืองสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ 55 เมืองทั่วโลก ซึ่งไทยมีเมืองที่มีเอกลักษณ์ และได้รับการรับรองจากยูเนสโก 2 จังหวัด คือ จ.เชียงราย เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) และ จ.สุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี (City of Music) โดยทั้ง 55 เมืองสร้างสรรค์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองที่กำลังเป็นผู้นำในการเพิ่มการเข้าถึงวัฒนธรรม และกระตุ้นพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ปรับประยุกต์ใช้วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเมือง

โดยคาดว่าเมืองเชียงราย และเมืองสุพรรณบุรี ที่ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ในปีนี้ จะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทย ที่จะสร้างรายได้ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีมูลค่าการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น…

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับรองเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) ปี 2558, เชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) ปี 2560, กรุงเทพมหานคร เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) ปี 2562, สุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) ปี 2562 และเพชรบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) ปี 2564 ซึ่งทำให้เมืองดังกล่าวได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เกิดการเดินทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น

ล่าสุด พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน หรือ เดอะ เมท เตรียมส่งมอบโบราณวัตถุ 2 รายการ คือ ประติมากรรมพระศิวะ ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy (โกลเด้นบอย) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นรูปพระศิวะสวมเครื่องทรงแบบบุคคลชั้นสูง ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม พบไม่มากนัก ประติมากรรมนี้สูง 129 เซนติเมตร มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษ หล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง และ ประติมากรรมสตรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน สูง 43 เซนติเมตร อยู่ในท่านั่งชันเข่า และยกมือไหว้เหนือศีรษะ แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง หล่อด้วยสำริด มีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงิน และทอง

เรียกว่า เข้ารับตำแหน่งปุ๊บ ก็เดินสายประกาศข่าวดีให้คนไทยได้ยิ้มรับปีใหม่กันเลยทีเดียว…

แน่นอนว่า ความสำเร็จที่ไม่ได้เป็นผลจากงานในรัฐบาลนี้ ทำให้ปี 2567 วธ.โดยการนำของนายเสริมศักดิ์ ถูกคาดหวังจากหลายภาคส่วน

นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ กล่าวว่า ส่วนตัวติดตามผลงาน วธ.มาตลอด แต่ยังไม่มีอะไรที่หวือหวา เร้าใจ เหมือนการทำงานประจำ ยังไม่มีนโยบายใหม่ๆ อาจเพราะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นาน ดังนั้น คงต้องให้เวลารัฐบาลใหม่ทำงานไปก่อน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ วธ.มีประเด็นที่อยากเห็น และขอฝากรัฐบาลนี้ดำเนินการอย่างจริงจัง คือวัฒนธรรมจะต้องไม่เป็นเรื่องของชนชาติไทยเท่านั้น ต้องมีความหลากหลาย ข้ามพ้นเรื่องลัทธิชาตินิยม โดยต้องส่งเสริมให้วัฒนธรรมชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ให้ได้รับการยกย่องเช่นเดียวกัน

ในแง่การอนุรักษ์ วธ.ถือว่าทำได้ดีมาก แต่ยังขาดการพัฒนา จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ถูกแช่แข็ง ดังนั้น วธ.น่าจะเสนอนโยบายที่สร้างวัฒนธรรมรุ่นใหม่ หรือนิวคัลเจอร์ ที่มีความเป็นสากล เช่น เรื่องวินัย มารยาทสังคม เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ประชาชนจะมีระเบียบวินัย รู้จักการเข้าคิว สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างขึ้นมา ให้คนไทยกลายเป็นคนที่สามารถเข้ากับอารยชนได้ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความเป็นประชาธิปไตย ส่วนการสร้างวัฒนธรรมให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์นั้น สามารถทำได้ แต่คิดว่าผู้ที่จะทำได้ดี คือภาคเอกชน ไม่ใช่รัฐบาล รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริม เช่น เกาหลีใต้ ผู้ที่นำวัฒนธรรมมาสร้างรายได้ให้ประเทศ คือภาคเอกชน ส่วนรัฐบาลทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน ดังนั้น หากจะให้นโยบายซอฟต์เพาเวอร์ประสบความสำเร็จ รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดดีๆ ได้มีโอกาสใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ นายสมฤทธิ์กล่าว

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ทำงานได้ดี มีโบราณวัตถุหลายรายการที่เตรียมส่งคืนกลับประเทศไทย ถือเป็นผลงานของ วธ. แต่ในปี 2567 อยากให้ตรวจสอบโบราณวัตถุจากต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยอย่างไม่ถูกกฎหมาย และส่งคืนสู่ประเทศที่เป็นเจ้าของ และไม่ใช่คืนให้ต่างประเทศเท่านั้น รวมถึงโบราณวัตถุท้องถิ่น จากจังหวัดต่างๆ หากไปอยู่ที่อื่น ก็ควรส่งคืนให้กลับไปอยู่ในจังหวัดนั้นๆ ด้วย

ส่วนการทำงานของนายเสริมศักดิ์นั้น นายสมฤทธิ์มองว่า ยังไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร แต่นายเสริมศักดิ์เอง เป็นข้าราชการมานาน อาจคุ้นชินกับระบบวัฒนธรรมที่ติดตัวมา ดังนั้น หากจะปรับเปลี่ยน และสร้างวัฒนธรรมที่ดีในการทำงาน นายเสริมศักดิ์จะต้องเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้แสดงความคิดเห็น สามารถโต้แย้งได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน

ถือเป็นงานหินในปี 2567 ที่รอพิสูจน์ฝีมือ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ว่าจะผลักดัน ซอฟต์เพาเวอร์ ทางวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประชาชนคนไทยได้ชื่นใจมากน้อยแค่ไหน…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image