การศึกษาไทยต้อง ‘ปฏิวัติ-ผ่าตัดใหญ่’ ‘วันนอร์’ ชี้ต้องยกเครื่อง แนะ ‘ครู’ ปรับบทบาทเป็น ‘ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ’

การศึกษาไทยต้อง ‘ปฏิวัติ-ผ่าตัดใหญ่’ ‘วันนอร์’ ชี้ต้องยกเครื่อง -ปรับคุณภาพทั้งระบบ แนะ ‘ครู’ ปรับบทบาทเป็น ‘ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ’

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมเวที “99 ขุนพลปฏิวัติการศึกษาไทย” จัดโดยสมาพันธ์ครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ร่วมกับคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ดีใจที่ ส.ค.ท.ใช้รัฐสภาเพื่อระดมสมองแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติ เราจะทำอย่างไรให้ครูไทย และการศึกษาไทย เด่นเหมือนกล้วยไม้ ที่ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เคยเปรียบเทียบไว้ว่า “กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น แต่ออกดอกคราวใด งามเด่น งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวต่อว่า ขอชื่นชมท่านทั้งหลายที่รวมกลุ่มเป็นองค์กรของครูทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาของชาติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ใครจะพูดอย่างไรก็ตาม แต่ตนเชื่อในความรู้สึกว่า การปฏิรูป คือการทำให้ดีขึ้น แต่การศึกษาไทยอ่อนแรง ง่อยเปลี้ย จนการปฏิรูปอาจจะไม่เพียงพอในความรู้สึกของพวกเรา แต่อาการอ่อนเปลี้ย ไม่มีแรงที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าของการศึกษาไทยนั้น ถึงขั้นที่ต้องเรียกว่าปฏิวัติ แม้หลายคนมองว่าใช้คำรุนแรง แต่ตนมองว่าจำเป็นต้องทำ ถ้าจะเป็นการผ่าตัด ต้องเป็นการผ่าตัดครั้งใหญ่

“เราทำงานร่วมกันในการระดมสมอง เพื่อเสนอชุดความคิดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูป หรือปฏิวัติ ในศตวรรษที่ 21 นี้แน่นอน การปฏิรูปนั้น ถ้าพูดให้แคบลง คือการแก้ไข การทำอะไรให้ดีขึ้น เราต้องทำดีขึ้นเรื่องอะไรบ้าง เรื่องสำคัญที่ผมคิด คือระบบการศึกษา ถ้าระบบไม่ดี เครื่องยนต์ไม่ดี เราจะใส่ยางดี เติมน้ำมันให้เต็มถัง ถ้าเครื่องไม่ดี ก็ไปไม่ฉลุย ฉะนั้น คงต้องยกเครื่อง ปรับคุณภาพทั้งระบบ ทั้งนี้ ถ้าให้ความสำคัญกับระบบอย่างเดียว แต่ไม่ดูคนขับ ก็ไม่ได้ ทั้งระบบ และคน ซึ่งคนก็คือผู้บริหาร ครู โรงเรียน โดยต้องรวมเด็กเข้าไปด้วย เพราะเด็กคือองค์กรสำคัญของการศึกษา เด็กต้องเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่รัฐมนตรี หรืออธิบดี ที่เป็นอันดับหนึ่ง เพราะถ้าไม่มีเด็ก ไม่มีครู ไม่มีโรงเรียน ไม่มีตำรา จะขาดทรัพยากรที่ดีของมนุษย์” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

Advertisement

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวอีกว่า ครูเป็นอาชีพชั้นสูง เพราะเป็นอาชีพที่ช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้บ้านเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญ ครูเป็นคนเจียระไน เป็นวิศกรที่สร้างเด็ก ทั้งนี้ ขอนำพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ “ครูที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือตั้งมั่น ขยัน และอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และเสียสละ ต้องหนักแน่น อดทน และอดกลั้น สำรวม ระวังความประพฤติปฏิบัติของตน ให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีงาม รวมทั้ง ต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ” ฉะนั้น เด็กที่ต้องการปฏิรูปต่อไปนั้น ต้องเป็นคนที่ดี มีความรู้ และมีคุณธรรม อย่างไรก็ตาม ในสังคมยุคใหม่ จะพูดถึงคุณธรรม และความรู้ที่อยู่ในตำราอย่างเดียวไม่พอ เพราะในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่การศึกษาไทยต้องมีเทคโนโลยี ให้เด็กสามารถเรียนออนไลน์ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ต้องให้เด็กเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ แม้เรากลัวเด็กจะเล่นเกม แต่เกมต่างๆ ก็มีประโยชน์ ฉะนั้น ครูต้องพัฒนาในเรื่องการใช้เทคโนโลยีด้วย

“ครูไม่ควรจะทำแทนเด็ก บอกเด็กให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ครูควรเป็นผู้แนะนำ ลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ด้วยตนเอง เราควรจะให้ครู และโรงเรียน เป็นผู้ให้การบริการตามความต้องการ ความสมัครใจของนักเรียน เราจะไม่ควรประเมินเด็กต่ำว่าเด็กไม่ฉลาด เด็กโง่ ต้องทำตามที่ครูแนะนำอย่างเดียว ในโอกาสที่วันครูปีนี้ ขอให้เป็นวันแห่งการปลดปล่อย เป็นวันอิสรภาพ เกิดการเรียนรู้ ขอให้ครูทุกท่านเป็นผู้นำแห่งจิตวิญาณ สร้างปัญญา สร้างความรู้ มีสติปัญญาพัฒนาการศึกษาให้มั่นคงแข็งแรงต่อไป” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image