หนุนนายกฯ ดึงเด็กหลุดระบบกลับ ร.ร.ลุ้นกลุ่มเสี่ยงมีกว่า 1 ล้าน ชี้ ‘โรงเรียน’ เป็นตัวผลัก

หนุนนายกฯ ดึงเด็กหลุดระบบกลับ ร.ร.ลุ้นกลุ่มเสี่ยงมีกว่า 1 ล้าน ชี้ ‘โรงเรียน’ เป็นตัวผลัก ใช้อำนาจทำเด็กกร้าวร้าว-ตั้งแก๊ง-สร้างอิทธิฤทธิ์

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันน่าเป็นห่วง และวิกฤตอย่างมาก เรื่องเด็กที่รวมตัวกันเป็นแก๊ง เป็นกลุ่ม ออกไปสร้างปัญหา ทำร้ายร่างการ ปล้นทรัพย์ ซึ่งหนักขึ้นทุกวัน ตนอยากให้นโยบาย Thailand Zero Dropout ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศไว้เมื่อวันเด็กแห่งชาติ 2567 โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องค้นหาเด็กหลุดออกนอกระบบที่ไม่ได้เรียนให้กลับเข้ามาเรียนนั้น ทำได้จริง เพราะจากข้อมูลพบว่า มีเด็กที่ใกล้เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา หรือเด็กแขวนลอย ประมาณ 1,010,000 คน มีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา อายุ 15-24 ปี ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เด็กบางคนออกมาเพื่อหางานทำ เพราะภาวะยากจน เด็กบางคนออกมารวมกลุ่มกัน หรือที่เรียกว่าเด็กก้าวพลาด เด็กเหล่านี้จะรวมกลุ่มกันเป็นแก๊ง นอกจากนี้ ยังมีเด็กบางคนที่ออกจากระบบการศึกษามาแล้วอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำอะไร หรือที่เรียกว่ากลุ่ม NEET (Youth Not in Employment, Education, or Training) และกลุ่มเด็กที่อยู่นอกระบบในปัจจุบันนี้ มีด้วยกันที่ 15 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กเร่ร่อน เด็กชาติพันธุ์ แรงงานเด็ก แม่วัยใส เป็นต้น

“ทั้งนี้ พบว่าตัวเลขของคนที่เข้าสถานพินิจนั้น 1 ปีจะมีคนทำผิด ก้าวพลาด ประมาณ 12,000-13,000 คดี และ 80% เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด และความรุนแรง แนวโน้มเด็กกระทำผิดจะอายุน้อยลงตามลำดับ พบว่า มีเด็กป่วยด้วยยาเสพติด จิตเวชอย่างน่าเป็นห่วง เด็กอายุ 13-15 ปี ที่กระทำผิดแล้วออกจากโรงเรียนมีจำนวนมาก ประมาณ 3 เดือนจะเข้าสู่วงจรสีเทา โดยเริ่มจากติดเพื่อน ทดลองใช้เหล้า ยาเสพติด ปัจจุบันเด็กไทยมีพฤติกรรมร่วมที่แฝงด้วยความรุนแรง เป็นพฤติกรรมลบมากกว่าพฤติกรรมบวก เพราะระบบครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ และกอดกันน้อยลง เนื่องจากผู้ปกครองเครียดเรื่องงาน และผลักลูกเล่นมือถือตั้งแต่เด็ก ทำให้เด็กเริ่มซึมซับ และใช้อารมณ์ตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นพื้นฐานของการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้อยู่ในโลกเสมือน และเล่นเกมที่แฝงไปด้วยความรุนแรง” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า จะพบว่าเด็กที่ไปโรงเรียนกลับไม่ได้เรียนตามความถนัด ตามความสนใจ เนื่องจากเป็นระบบที่แข็งตัว ผลักเด็กออกจำนวนมาก บังคับใช้อำนาจ ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าว ตั้งกลุ่มสร้างอิทธิฤทธิ์ สร้างวีรกรรมเพื่อให้ได้รับการยอมรับ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีปัญหาครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่อันตราย และต่างคนต่างอยู่ ทำให้สังคมในปัจจุบันมีจำนวนเด็กน้อย และด้อยคุณภาพ สิ่งที่จะติดตามมาอีกเรื่องหนึ่งคือเด็กไม่สามารถเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ขั้นสูงได้ สิ่งที่นายกฯ ประกาศว่าไม่ให้เด็กออกกลางคันนั้น มาถูกทางแล้ว แต่จะทำอย่างไรไม่ให้โรงเรียนปล่อย และผลักเด็กออกมา ทำอย่างไรให้ระบบการเรียนรู้สนุกสนาน และสทำให้เด็กทุกคนไปสู่ศักยภาพตามความถนัน ตามความสนใจได้

Advertisement

“ตราบใดที่มีนโยบาย Zero Dropout แต่ระบบโรงเรียนที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ให้พื้นที่เฉพาะเด็กเก่ง ระบบหลักสูตร เต็มไปด้วยเนื้อหามากมาย เด็กแทบไม่ลงมือปฏิบัติ ระบบการศึกษาเป็นเหมือนปัจจุบัน เด็กจะถูกให้ออกแบบเนียนๆ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เด็กทุกคนอยู่ในระบบการศึกษาอย่างดี และมีความสุข นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้เด็กทุกคนอยู่ในชุมชน และครอบครัว มีความสัมพันธ์ และพฤติกรรมเชิงบวกมากกว่าในปัจจุบันนี้ นโยบาย Zero Dropout ต้องพัฒนานวัตกรรมหลายอย่าง เช่น ควรทำ 1 โรงเรียน 3 ระบบ คือ มีทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย การใช้ชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้ ส่งครู และปราชญ์ชาวบ้าน ช่วยกันทำหลักสูตร ให้เรียนครึ่งวัน และอีกครึ่งวันฝึกอาชีพ ทำให้เด็กมีพื้นที่ในการแสดงออก และยังต้องมีพื้นที่จัดการเรียนรู้ใหม่ โดยโรงเรียนต้องเปิด ยืดหยุ่น เป็นอิสระ ไม่บังคับเรื่องแต่งกาย และทรงผม ฝึกให้เด็กควบคุมดูแลตัวเองได้ ผมคิดว่าแก๊งเด็กในสังคมไทยขณะนี้ น่าเป็นห่วง ถ้าโรงเรียนไม่รับรู้ว่าการผลักเด็กออกไป คือการสร้างยุวอาชญากร ครู และผู้บริหาร ต้องตระหนักเรื่องนี้ให้ดี เพราะถนนของยุวอาชญากรเปิดกว้างมาก” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image