มติชนมติครู : เมื่อความฉลาดทางปัญญา ไม่เพียงพออีกต่อไปในยุคนี้

มติชนมติครู : เมื่อความฉลาดทางปัญญา ไม่เพียงพออีกต่อไปในยุคนี้

ปัจจุบันสังคมไทย และสังคมโลก ต่างมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และความคิด ทำอย่างไรที่เราสามารถใช้ชีวิตภายใต้ความหลากหลายเหล่านี้ ได้อย่างมีความสุข สามารถติดต่อ และทำงานร่วมกันได้อย่างมืออาชีพ การสื่อสารถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง และหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงความแตกต่างหลากหลายเข้าด้วยกัน แต่ไม่ว่าจะสื่อสารภาษาเดียวกัน หรือต่างกัน ก็จะมีอุปสรรคบางอย่างที่เข้ามา ทำให้มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน เกิดความไม่เข้าใจระหว่างกัน และนำมาสู่ความขัดแย้ง หรือพลาดโอกาสสำคัญ ความฉลาดทางวัฒนธรรม จึงเป็นทักษะหนึ่งให้เราใช้ชีวิตบนโลกใบนี้อย่างมีความสุข

หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับคำว่า ความฉลาดทางปัญญา (IntelligenceQuotient: IQ) และ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) กันมาแล้ว เนื่องจากเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ ทั้งด้านการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต แต่นอกจาก IQ และ EQ แล้ว อีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการใช้ชีวิต ในสังคมที่ผู้คนต่างวัฒนธรรมสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างง่ายดาย นั่นคือก็ความฉลาดทางวัฒนธรรม (Cultural Quotient: CQ)

Advertisement

ในสังคมการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาทางธุรกิจ การประสานงานระหว่างหน่วยงาน การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ หรือการติดต่อกับลูกค้า เราต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ต่างความคิดต่างวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งต่างเชื้อชาติ ดังนั้น ทักษะความฉลาดทางวัฒนธรรม จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงาน

โดยนิตรสาร Forbes ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของความฉลาดทางวัฒนธรรมในสังคมการทำงาน ว่าทักษะนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาให้เราสามารถสื่อสาร และร่วมงานกับผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมได้อย่างราบรื่น อีกทั้ง ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เรามีศักยภาพในการขับเคลื่อนนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อันเนื่องมาจากความสามารถในการบูรณาการข้อมูล และมุมมองที่หลากหลายได้นั่นเอง

ดังนั้น เราจึงสามารถเริ่มต้นพัฒนาทักษะความฉลาดทางวัฒนธรรมด้วยตัวเองได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากการเปิดใจ ใฝ่เรียนรู้ และปรับตัว เปิดใจยอมรับในความหลากหลายของผู้คนที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ค่านิยม ความคิด ตลอดจนลักษณะการสื่อสาร และการแสดงออกทางพฤติกรรม ที่ต่างกันไปตามแต่ละบริบททางสังคม และวัฒนธรรม เช่น เมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับความที่มีความแตกต่าง ให้เริ่มเปิดใจที่จะทำความเข้าใจ รับฟัง ไม่ปิดกั้น หรือสร้างกำแพง ที่จะเป็นอุปสรรคให้เข้าถึงความเข้าใจในความแตกต่าง ได้ใฝ่เรียนรู้ ทำความเข้าใจลักษณะการสื่อสาร การแสดงออก นิสัย รวมถึง สไตล์การทำงานของแต่ละวัฒนธรรม ผ่านการสังเกต ตั้งคำถาม และหาคำตอบจากผู้ใกล้ชิด หรือมีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมนั้นๆ ก็ยิ่งช่วยทำให้เข้าใจรูปแบบการแสดงออกของผู้คนจากวัฒนธรรมนั้นๆ ได้มากขึ้น เช่น เมื่อเจอคนที่นิสัยแตกต่างจากเรา ควรจะแสวงหาความรู้เพื่อเข้าใจพฤติกรรมที่แตกต่างจากเรา ตั้งคำถามว่าวัฒนธรรม หรือสังคมที่เขาอยู่ ส่งผลต่อพฤติกรรม หรือนิสัยของเขาหรือไม่

Advertisement

อย่างน้อยจะทำให้เรามีความรู้ และความเข้าใจในความแตกต่าง ได้ปรับตัว ทั้งความคิด การสื่อสาร การแสดงออกให้เหมาะสม และสอดคล้องกับวัฒนธรรมนั้นๆ เพื่อให้การประสานงาน และการติดต่อสื่อสารเป็นไปได้อย่างราบรื่น

เราไม่สามารถเป็นศูนย์กลางของสิ่งที่อยู่รอบตัวเราได้เสมอไป ความสามารถในการปรับตัว จึงเป็นทักษะสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความหลากหลายได้ แต่ละสังคมต่างก็มีบริบทที่แตกต่างกันไป อยู่บ้านเราอาจจะทำอะไรก็ได้ แต่เมื่ออยู่ที่ทำงาน เราก็ควรต้องปรับตัวอยู่ประเทศไทยเราอาจจะทำอะไรก็ได้ แต่เมื่ออยู่ต่างประเทศ เราก็ควรต้องปรับตัว

ดังนั้น เปิดใจ ใฝ่เรียนรู้ และปรับตัว จะเป็นสะพานที่พาเราออกจาก Comfort zone ไปสู่พื้นที่ที่มีความหลากหลายได้อย่างมีความสุข การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความฉลาดทางวัฒนธรรม จึงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ ในการเปิดประตูสู่ความสำเร็จสำหรับคนทุกช่วงวัย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image