มติชนมติครู : การพัฒนาวิชาชีพครู รัฐบาลกับโจทย์บนความท้าทาย

มติชนมติครู : การพัฒนาวิชาชีพครู รัฐบาลกับโจทย์บนความท้าทาย

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ครู” กับสังคมไทย จะพบว่าคำนี้ มีความหมายที่ส่งผลให้ขบคิดในหลากหลายมิติ แต่ในทางกลับกันหากมองในมุมของแวดวงการศึกษา “ครู” จะหมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่ในการเป็นต้นแบบ และถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งด้านการเรียน และการดำเนินชีวิตหรืออื่นๆ ตามที่เหล่านักการศึกษา และนักวิชาการได้นิยามไว้อย่างเป็นทางการ

เมื่อกล่าวถึงครูกับมิติที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคน หากศึกษาถึงข้อมูลในอดีต จะพบว่าครูมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนล่วงสู่รัตนโกสินทร์ แต่ด้วยปรากฎการณ์ และการเปลี่ยนแปลงของแต่ละยุคแต่ละสมัย ครูกับบทบาทหน้าที่ หรือวัตรปฏิบัติ จึงมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของห้วงเวลานั้นๆ

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อส่องไปดูวิวัฒนาการของครู หรือผู้ประกอบวิชาชีพครู ที่เปลี่ยนผ่านมาจนถึงบริบทของสังคมแห่งวิถีใหม่ ภายใต้การเรียนการสอนในสถานศึกษา จะพบว่าวิชาชีพนี้มีจุดกำเนิด หรือเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ อันเนื่องมาจากสังคมไทยได้รับรูปแบบการจัดการศึกษามาจากชาติตะวันตก

Advertisement

และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ตลอดจนพระราชปณิธาน หรือพระราชดำริของพระพระมหากษัตริย์ไทยในแต่ละยุค ที่ทรงเห็นความสำคัญในการสร้างคน แลบ่มเพาะทุนมนุษย์ภายใต้การนำมิติของการศึกษามาเป็นสื่อกลาง “ครู” จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญ สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม และประเทศให้ทันกับนานาประเทศที่เจริญแล้ว และทันกับบริบทโลกในยุคปัจจุบัน

วิชาชีพครูในรัชสมัยของล้นเกล้าฯ .นหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ถือได้ว่าวิชาชีพนี้เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่ได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนจนทำให้เกิดการยอมรับ มีคนรุ่นใหม่สนใจที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางวิชาชีพนี้กันอย่างล้นเหลือ

แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง รูปแบบการพัฒนา หรือการสร้างครูในรั้วสถาบันการศึกษา สำหรับผลิตคนต้นแบบ หรือบัณฑิตออกไปรับใช้สังคม ที่มีจุดเริ่มต้นในโรงเรียนฝึกหัดครูจนสู่สถาบันอุดมศึกษาดังเช่นทุกวันนี้ จึงต้องมีการปรับระบบ และแนวทางให้เหมาะ หรือสอดคล้องกับสภาวการณ์ในแต่ละห้วงเวลาเช่นเดียวกัน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เมื่อส่องไปที่ความสนใจของคนรุ่นใหม่กับการก้าวสู่วิชาชีพนี้ หากมองในเชิงบวก ต้องยอมรับว่าเป็นความโชคดีของสังคมไทย แต่หากเจาะลงไปให้ลึกกว่านั้น ข้อมูลในเชิงประจักษ์ที่จับต้องได้ กลับพบว่เบ้าหลอม หรือกระบวนการพัฒนาของแต่ละสถาบัน หรือแต่ละตักกะศิลาก็จะต่างกัน

จากกระบวนการการผลิตภายใต้หลักสูตรที่ยกร่างมาเหมือนกัน และมีผู้สนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่าครูจะล้นตลาดเสียด้วยซ้ำ วันนี้จึงมีคำถามตามมาว่าครูที่สังคมคาดหวัง และเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ หรือมาตรฐานจะมีมากน้อยแค่ไหน

หนึ่งเหตุผลรองรับคำถาม หรือตัวแปร ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพ และมาตรฐาน คือเรื่องของปริมาณ ที่บางสถาบันมุ่งเน้นการรับตัวป้อนเพื่อตอบสนองรายได้

วันนี้ จากปรากฎการณ์การก้าวสู่โลกแห่งวิถีใหม่ หรือยุคดิจิทัล จำเป็นอยู่เองที่สถาบันการศึกษาซึ่งรับผิดชอบในการบ่มเพาะ และสร้างครูพันธุ์ใหม่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคุรุสภา ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้อง จะต้องลงมาให้ความสำคัญ เพื่อที่จะปรับกระบวนทรรศน์ และรูปแบบการพัฒนา ให้นักศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา หรือรังสรรค์ทุนมนุษย์ที่จะเติบใหญ่ และรับผิดชอบต่อสังคมในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลับมาที่บริบทของครูผู้ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานศึกษา ต้องยอมรับว่าเมื่อโลก และสังคม มีการเปลี่ยนแปลง และแข่งขันที่นับวันจะมากขึ้น แน่นอนครู หรือผู้ประกอบวิชาชีพนี้ จะต้องเผชิญกับโจทย์ และความท้าทายที่หลากหลาย และเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อวิทยาการสมัยใหม่ ตลอดจนเทคโนโลโลยี และนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง จำเป็นอยู่เองที่ครูจะต้องได้รับการพัฒนา และยกระดับให้ทัน

หนึ่งในการบ้าน หรือความท้าทาย ที่สะท้อนให้ครูต้องเดินเข้าสู่ครูแห่งโลกในอานาคต ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนเห็นว่าครูของเขาไม่ใช่ผู้ซึ่งมีแค่จิตวิญญาณ หรือตัวตนของความเป็นครูภายใต้จรรยาบรรณที่กำหนดเท่านั้น แต่ครูคืออเวนเจอร์ผู้ที่พร้อมไปด้วยขุมกำลังแห่งองค์ความรู้ และนวัตกรรม ที่จะเสริมเสริมเติมเต็มให้ศิษย์ก้าวไปสู่ความเป็นคนดี คนเก่งของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสืบไป

การพัฒนา และยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพครูให้ทันยุคทันการเปลี่ยนแปลง นอกจากครูจะเสาะแสวงหาด้วยลำแข้งของตนเองแล้ว ปัจจัย หรือองค์ประกอบที่สำคัญในการรองรับ คงจะได้แก่นโยบายของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดเป็นวาระสู่การปฏิบัติที่จับต้องได้ และยั่งยืน

มิติที่เกี่ยวกับการพัฒนาครูซึ่งสามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม หากมองย้อนกลับไป พบว่ารัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการในแต่ละยุค ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน หรือเกาได้อย่างถูกที่คัน มากนัก และที่น่าสนใจ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านม าเมื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ ก็จะมีนโยบายและเมกกะโปรเจคการพัฒนาภายใต้งบประมาณมหาศาล แต่การขับเคลื่อนการปฏิรูปครู และพัฒนาการศึกษา ยังอยู่ในวังวน หรือหลุมดำที่ไม่พึงปรารถนาแบบเดิมๆ

การแสวงหาทางออกสำหรับก้าวข้ามปัญหา และขวากหนาม เพื่อนำไปสู่การพัฒนา และยกระดับให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูมีความเจริญก้าวหน้าภายใต้กรอบ ระเบียบ และจรรยาบรรณ คงไม่ใช่เพียงวันครูที่ผู้บริหารในรัฐบาล และองค์กรที่เกี่ยวข้อง จะหยิบยกมาถกเถียง

แต่การแสวงหาทางรอด ทางเลือก เพื่อให้ครูทั่วประเทศ ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ และศักดิ์ศรี จึงน่าจะเป็นโจทย์บนความท้าทาย ที่รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ พึงตระหนัก และเร่งดำเนินการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image