ไฟเขียวถอนข้อสงวนอนุฯ สิทธิเด็ก ช่วยคุ้มครองเด็ก ‘ลี้ภัย-แสวงหาที่พักพิง’ ทำไทยได้รับการยอมรับ

ไฟเขียวถอนข้อสงวนอนุฯ สิทธิเด็ก ช่วยคุ้มครองเด็ก ‘ลี้ภัย-แสวงหาที่พักพิง’ ทำไทยได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ

นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ที่มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบถอนข้อสงวน ข้อ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อถอนข้อสงวนนี้ไป จะทำให้ประเทศสามารถคุ้มครอง ช่วยเหลือเด็กผู้ลี้ภัย และเด็กที่แสวงหาที่พักพิง ทำให้ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำร่างแนวทางการดำเนินการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น กำหนดนิยามคำจัดกำความ “เด็กผู้ลี้ภัย” โดยจำแนกเด็กเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.เด็กหนีภัยการสู้รบจากเมียนมา กว่า 3.2 หมื่นคน อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง และ 2.เด็กผู้ลี้ภัย และเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงในเมือง กว่า 1.8 พันคน พร้อมกับกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ โดยนำกฎหมายที่มีอยู่มาคุ้มครองเด็ก เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2564 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เป็นต้น พร้อมกับประสานความร่วมมือกับองค์กรสหประชาชาติในการช่วยเหลือ และคุ้มครองเด็ก

“หากประเทศถอนข้อสงวน ข้อ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแล้ว เชื่อว่าประโยช์ที่จะได้รับมีดังนี้ 1.เด็กทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยยึดประโยชน์ของเด็กเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งได้รับความคุ้มครอง และดูแลช่วยเหลือเท่าที่จะเป็นไปได้ 2.ส่งเสริมบทบาทของประเทศไทนในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย และเด็ก ในบริบทการย้ายถิ่นฐาน สอดคล้องกับคำมั่นที่ไทยได้ให้ไว้เวทีระหว่างประเทศ 3.พัฒนาภาพลักษณ์ที่ดี และมุมมองด้านบวกของไทย และ 4.หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศด้านเด็กในไทย ดำเนินงานด้านเด็กในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐานในอย่างครอบคลุม” นายอรรถพลกล่าว

Advertisement

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า เมื่อที่ประชุมเห็นชอบถอนข้อสงวน ข้อ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแล้ว ขั้นต่อไปที่ประชุมมอบหมายให้ พม.นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 ต่อไป ซึ่งจะทำให้ไทยให้การคุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กทุกคน ทุกกลุ่ม บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และยึดประโยชน์สูงสุดของเด็ก ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image