ส.บ.ม.ท.แฉ น.ร.เทสอบโอเน็ต ทำงบสูญเปล่า หนุน ศธ.ใช้เป็นองค์ประกอบเลื่อนชั้น ม.1/ม.4

ส.บ.ม.ท.แฉนักเรียนเทสอบโอเน็ต สมัคร 600 ราย สอบจริง 120 คน ทำงบประมาณสูญเปล่า หนุน ศธ.ใช้เป็นองค์ประกอบเลื่อนชั้น ม.1/ม.4

นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้นำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต มาใช้ประโยชน์นั้น ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะปัจจุบันเด็กไม่เห็นความสำคัญของการสอบโอเน็ต อย่างการสอบครั้งล่าสุด บางโรงเรียนมีนักเรียนสมัครสอบโอเน็ต 600 คน แต่มาสอบจริงเพียง 120 คน ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยสูญเปล่า

“ปัจจุบัน ศธ.ให้การสอบโอเน็ตเป็นไปด้วยความสมัครใจ ทำให้เด็กไม่ตั้งใจสอบ บางโรงเรียนสมัคร 600 คน มาสอบเพียง 120 คน ทำให้บางโรงเรียนต้องใช้วิธีบังคับให้มาสอบ เด็กถึงมาปกิต ดังนั้น หากจะให้โอเน็ตสะท้อนผลการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง จะต้องนำผลสอบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเลื่อนชั้น ม.1 และ ม.4 หรือมีผลต่อการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กตั้งใจสอบ โดยใช้เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด เชื่อว่าจะทำให้เด็กตั้งใจสอบมากขึ้น เพราะมีกำลังใจ รู้ว่าสอบแล้วนำไปใช้อะไรได้บ้าง ไม่เช่นนั้นจะเกิดการสูญเปล่าทางการศึกษา สิ้นเปลืองงบประมาณ” นายณรินทร์ กล่าว

นายณรินทร์กล่าวต่อว่า ส่วนที่จะให้คะแนนโอเน็ตมีผลต่อการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะครู ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว9/2564) นั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะอาจทำให้เกิดภาระกับครูมากเกินไป แต่อยากให้มีผลต่อการเลื่อนชั้นเรียน โดยแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน เช่น ใช้คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเข้าเรียนต่อร้อยละ10-30 เป็นต้น เพื่อให้เด็กมีกำลังใจในการสอบ เพราะรู้ว่าจะมีผลต่อการเรียนในอนาคต ขณะที่ครูเองจะได้รู้ข้อดี ข้อเสีย และข้อบกพร่องของตัวเอง เพื่อจะได้วางแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนได้อยู่ต้อง ที่สำคัญ ถ้าทำได้ เชื่อว่าจะส่งผลให้คะแนนประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA เพิ่มสูงขั้นในอนาคตด้วย

Advertisement

“หาก ศธ.ยังจะจัดสอบโอเน็ตอยู่ ก็ต้องนำผลสอบไปใช้ประโยชน์ หากไม่นำคะแนนไปใช้ทำอะไร ก็ควรยกเลิก เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ ซึ่งแต่ละปีใช้งบเตรียมความพร้อมในการจัดสอบค่อนข้างมาก โดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะเตรียมการสอบตามจำนวนเด็กที่สมัคร แต่พอวันจริง กลับมีเด็กมาสอบน้อย ทำให้สิ้นเปลืองงบแต่ละปีจำนวนมากทั้งที่ไม่จำเป็น ส่วนที่เกรงว่าจะเป็นภาระให้เด็กสอบเยอะนั้น การสอบโอเน็ตไม่ได้สอบทุกวัน สอบปีละครั้ง เพื่อวัดมาตรฐานการจัดการศึกษา คิดว่าไม่ได้เป็นภาระมากขนาดนั้น แต่หากไม่ปรับเปลี่ยน การสอบโอเน็ตก็จะไม่เกิดประโยชน์ ครู และโรงเรียน จะเสียเวลา ที่สำคัญเกิดการใช้งบสิ้นเปลือง” นายณรินทร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image