ชี้ ‘สมเด็จช่วง’ รับทรัพย์สินเป็นบทเรียนให้สงฆ์ ไม่ปรับโครงสร้างใหม่ปัญหาปูดหลายวัด

นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา เปิดเผยว่า การรับทรัพย์สินของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เชื่อมโยงไปถึงเรื่องการเมืองชัดเจนมาก กรณีนี้เป็นการสรุปบทเรียนให้พระรูปอื่นๆ ได้ในอนาคต หากไม่แก้ไขระบบโครงสร้างของคณะสงฆ์ที่โยงใยกับรัฐ ปัญหาเดิมๆ จะไปปูดที่วัดนั้นวัดนี้อีก จนเกิดกระแสวิจารณ์ตามมาอีก ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าสังคมคาดหวังอะไรกับพระ ในเมื่อรัฐเป็นผู้กำหนดให้พระมีสมณศักดิ์ ซึ่งทางวินัยสงฆ์ไม่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น หากพระวิ่งเต้นเรื่องตำแหน่งเช่นเดียวกับฆราวาส มีเรื่องลาภสักการะเข้ามาเกี่ยวข้อง จนเป็นเหตุให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือพระพุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม นำไปวิจารณ์คณะสงฆ์ได้ อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำผู้วิจารณ์แนะแนวทางแก้ไขด้วย

“โดยทั่วไปพระสงฆ์มีอัฐบริขาร 8 หรือเครื่องใช้สอยของพระภิกษุ อาทิ สบง จีวร บาตร มีดโกน เป็นต้น และมีชีวิตที่เรียบง่าย ส่วนพระสงฆ์ที่มีทรัพย์สิน เช่น รถโบราณ นาฬิกาโบราณ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าสิ่งที่สะสมมีที่มาอย่างไร ญาติโยมบริจาค หรือซื้อสะสมเอง ที่สำคัญสะสมเป็นของตนเอง หรือสะสมเป็นสมบัติวัด การรับของมีค่าที่ญาติโยมถวาย หากรับเป็นส่วนตัวจะผิดวินัยสงฆ์ ซึ่งในพระธรรมวินัยมีข้อห้ามไม่ให้พระสงฆ์รับเงินทอง หรือทรัพย์สิน แต่พระสงฆ์ปัจจุบันใช้วิธีเลี่ยงบาลี เพื่อให้รับทรัพย์สินได้” นายสุรพศกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image