องค์การค้าฯ แจงทีโออาร์โปร่งใส ยันไม่ยกเลิก เร่งจัดพิมพ์ ‘หนังสือเรียน’

องค์การค้าฯ แจงทีโออาร์โปร่งใส ยันไม่ยกเลิก เร่งจัดพิมพ์ ‘หนังสือเรียน’

กรณีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ทำหนังสืออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างฯไปยังกรมบัญชีกลาง โดยขอให้กรมบัญชีกลางมีคำสั่งยกเลิกการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 ทั้งหมด และให้มีการประกวดราคาใหม่ ทั้งนี้ เนื่องจากการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนดังกล่าวมีลักษณะปิดกั้น ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดผลเสียต่อภาครัฐ พร้อมทั้งขอให้มีการสอบสวน และหากพบการกระทำผิดขอให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดและผู้สนับสนุนการกระทำผิดทุกรายตามกฎหมาย นั้น

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายภกร รงค์นพรัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีบุคคลภายนอก และนายธนู ขวัญเดช รองปลัด ศธ. ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาร่วมตรวจสอบ โดยผลสรุปพบว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การค้าฯ ที่มีการจัดพิมพ์แบบเรียนมีความโปร่งใส เป็นไปตามข้อกฎหมาย โดยที่ผ่านมาเราได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้มาตลอด และผู้ร้องเรียนได้มีการร้องเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2566 มีหนังสือร้องเรียนมาถึงองค์การค้าฯทั้งหมด 7 ฉบับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ยกเลิกทีโออาร์ ยกเลิกการประกวดราคา และปีนี้มีหนังสือร้องเรียนให้ยกเลิกทีโออาร์ถึง 17 ฉบับในเวลา 18 วัน ตั้งแต่วันที่ 27กุมภาพันธ์-18 มีนาคม ซึ่งถ้าต้องยกเลิกตามที่ร้องเรียนก็คือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องยืดเยื้อออกไป การจัดพิมพ์หนังสือเรียนก็จะไม่ทันตามกำหนด เพราะฉะนั้นยืนยันว่าสิ่งที่ทำเพื่อให้เด็กไม่ขาดโอกาสได้สิ่งที่ดีที่สุดและมีประโยชน์

นายภกรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปีนี้องค์การค้าฯมีเวลาจำกัดในการดำเนินการจัดทำหนังสือแบบเรียน จึงมีเหตุจำเป็นจะต้องดำเนินการ โดยวิธีคัดเลือก ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 78 วัน แต่ถ้าใช้วิธี e-bidding จะทำให้ผลิตไม่ทันเวลาการเปิดภาคเรียน 2567 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับนักเรียน ครู โรงเรียน สถานศึกษาและระบบบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ถูกต้องทุกประการ

Advertisement

นายภกรกล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงพิมพ์ดังกล่าวได้ยื่นประกวดราคาในราคาที่ต่ำสุด และได้งานไปถึง 5.3 ล้านเล่ม ในขณะที่โรงพิมพ์ที่ได้รับการคัดเลือกอื่นๆ ได้รับการคัดเลือกให้จัดพิมพ์โดยประมาณ 2-3 ล้านเล่ม ตามศักยภาพของโรงพิมพ์แต่ละแห่ง องค์การค้าจึงไม่เข้าใจว่าโรงพิมพ์ที่ร้องเรียน และได้งานไปกว่า 5 ล้านเล่มนั้น นำประเด็นนี้มาโจมตีด้วยเหตุผลใด และในวันที่ทำสัญญา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โรงพิมพ์แห่งนี้ก็เข้ามาทำสัญญา และยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดเช่นเดียวกับโรงพิมพ์ที่ได้รับการคัดเลือกอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่ทำสัญญายังนำฝ่ายกฎหมายและนักข่าวจากสำนักข่าวแห่งหนึ่งเข้ามาร่วมฟังการชี้แจงด้วย ทั้งนี้ ข้อกล่าวหากรณีการล็อกสเปกกระดาษที่เป็นข่าวนั้น องค์การค้าฯไม่ได้กำหนดสเปกเอง แต่การเลือกใช้กระดาษของหนังสือเรียน องค์การค้าฯได้รับการอนุมัติจาก สสวท. ซึ่งเป็นเจ้าของต้นฉบับ และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้อนุมัติให้ใช้และกำหนดราคาจำหน่ายหนังสือเรียนมาให้ องค์การค้าฯไม่ได้เป็นผู้กำหนดสเปกของกระดาษโดยพลการ และกระดาษก็ไม่ได้ใช้เป็นปีแรก และก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องซื้อจากแหล่งใด ทุกโรงพิมพ์ที่ได้รับการคัดเลือกสามารถซื้อกระดาษจากแหล่งใดก็ได้ เพียงแต่ต้องขอให้ตรงตามสเปกที่กำหนดตาม TOR ซึ่งการสั่งกระดาษเข้ามารองรับงานพิมพ์ บริษัทกระดาษทุกๆ บริษัททราบอยู่แล้วว่าในแต่ละปีองค์การค้าฯจะมีปริมาณการผลิตหนังสือเรียนเท่าไหร่ ดังนั้น บริษัทที่ประสงค์จะขายกระดาษให้กับโรงพิมพ์เพื่อจัดพิมพ์หนังสือขององค์การค้าฯ สามารถวางแผนสต๊อกกระดาษเพื่อใช้ในการผลิตหนังสือเรียนได้ ซึ่งเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ

”องค์การค้าฯมุ่งเน้นผลิตหนังสือเรียนให้ทันเปิดเทอม เน้นคุณภาพ ราคาถูก รวมทั้งประหยัดงบประมาณของรัฐ ดังนั้น องค์การค้าฯจะไม่ยอมให้ใครมาหวังผลประโยชน์จากการผลิตหนังสือเรียน หรือมาทำร้ายเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นความหวังของชาติอย่างแน่นอน“ นายภกรกล่าว

ด้าน นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รักษาการ ผอ.องค์การค้าของ สกสค. กล่าวว่า ปกติจะมีการประกาศทีโออาร์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน แต่ปีนี้ติดเงื่อนไขว่าการตรวจต้นฉบับยังไม่เสร็จ เนื่องจากมีการปรับปรุงเนื้อหารูปภาพซึ่งเป็นกระบวนการของสำนัก สวก. สพฐ. ซึ่งเป็นต้นน้ำ และนโยบายของว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. คือต้องการให้ทุกสำนักพิมพ์ได้รับต้นฉบับพร้อมกัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยการคัดเลือกไม่ได้ e-bidding ซึ่งก็ได้ไปหารือกับกรมบัญชีกลางแล้ว กรมบัญชีกลางก็ตอบมาว่าสามารถทำได้ โดยหา 3 บริษัท หรือ 3 สำนักพิมพ์มาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง แต่เราก็หามาได้ถึง 19 สำนักพิมพ์ทั้งภาครัฐและเอกชน เรามีระยะเวลาจำกัด 55 วัน ต้องพิมพ์หนังสือให้เสร็จ คือตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ถึง 14 พฤษภาคม ซึ่งเป็นนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากที่สุด ทำให้ต้องไปทำไทม์ไลน์กับสำนักพิมพ์ว่าจะต้องเสร็จภายในกำหนด

Advertisement

ส่วนที่มีบางสื่อระบุว่า การดำเนินการครั้งนี้ใช้งบประมาณแผ่นดิน องค์การค้าฯขอยืนยันว่าไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว ไม่ได้ใช้ภาษีของประชาชนแม้แต่บาทเดียว เราเป็นหน่วยงานในสังกัดภาครัฐ แต่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจาก สกสค.แม้แต่บาทเดียว เราต้องหากินด้วยตัวเอง เป็นเงินของเราเองทุกบาททุกสตางค์ ดังนั้น สำนักพิมพ์ที่ได้รับการคัดเลือกให้พิมพ์หนังสือเรียนให้กับองค์การค้าฯ ที่ได้ลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม องค์การค้าฯจะเร่งดำเนินการผลิตและจัดส่งหนังสือแบบเรียนให้ทันก่อนเปิดเทอมแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image