อว.จัดใหญ่ปฏิรูปอุดมศึกษา ปักธงมหา’ลัย พัฒนาคนเปลี่ยนประเทศ ดัน2ลด2 เพิ่ม เด็กจบเร็วมีงานทำ

อว.จัดใหญ่ปฏิรูปอุดมศึกษา ปักธงมหา’ลัย พัฒนาคนเปลี่ยนประเทศ ดัน 2 ลด 2 เพิ่ม เด็กจบเร็วมีงานทำ จัดระบบรีวอร์ด ‘ม.’ ไหนทำได้ เพิ่มงบอุดหนุน ปิ๊งไอเดียเก็บพอร์ตโฟลิโอ ช่วยเด็กเก่ง-เปราะบางเข้าเรียน

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน BETTER THAILAND การปฏิรูปอุดมศึกษา อนาคตประเทศไทย โดยมีผู้บริหาร อว. อธิการบดี คณาจารย์ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนหอการค้าไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมกว่า 300 ราย โดย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการ อว. บรรยายพิเศษ หัวข้อ การปฏิรูปอุดมศึกษา อนาคตประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด ที่จะใช้ในการเปลี่ยนโลก วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปอุดมศึกษา เพื่อให้โลกเราน่าอยู่ อว. พร้อมปรับตัวครั้งใหญ่พาอนาคตของเราไปข้างหน้า ทั้งนี้ หากจะพูดถึงเทรนด์ของโลกความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม โลกเราไม่เหมือนเดิม เข้าสู่ Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้ขาดแคลนบุคลากร และที่สำคัญเราอยู่ในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาเองก็ต้องมาช่วยกันปรับตัว ปรับหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

น.ส.ศุภมาสกล่าวต่อว่า จากความท้าทายในเบื้องต้น ส่งมาถึงอุดมศึกษาโดยตรง มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตไม่ตรงกับความต้องการ บางมหาวิทยาลัย นักศึกษาน้อยลงเรื่อยๆ บางหลักสูตรต้องปิดตัว มีแนวโน้มการเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาน้อยลง สถานประกอบการให้ความสำคัญกับทักษะมากกว่า ขณะเดียวกันโลกปัจจุบัน มหาวิทยาลัยกลายเป็นสถานที่ที่เป็นที่ต้องการของคนทุกช่วงวัย ไม่ใช่แค่นักศึกษาปริญาตรี โท เอกเท่านั้น แต่ต้องเป็นสถานที่ในการอัพสกิล รีสกิล หรือนิวสกิล เพิ่มประสิทธิภาพคนวัยทำงานให้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ประกอบการและตอบโจทย์ความต้องการของโลก เป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มหาวิทยาลัยต้องดูแล ทุกวันนี้การเรียนจบมหาวิทยาลัย ไม่ได้การันตีความสำเร็จ แต่จะทำอย่างไรให้การศึกษา สร้างอนาคตของเยาวชน อนาคตประเทศได้ ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่มาจากหนี้การศึกษา ซึ่งต้องไปช่วยกันดูว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องไปช่วยกันดูแล ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเชื่อว่าเยาวชนสามารถช่วยเปลี่ยนประเทศได้

Advertisement

“การจัดทำการปฏิรูปอุดมศึกษาในครั้งนี้ ได้แบ่งนโยบายการปฏิรูปออกเป็น 4 เป้าหมายสำคัญ หรือเรียกง่ายๆ ว่า 2 ลด 2 เพิ่ม คือ ลดภาระ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มทักษะ และเพิ่มโอกาส ตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข มีรายได้ และวิจัยนวัตกรรมดี ตอบโจทย์ความต้องการ โดยในส่วนของการลด คือ ลดภาระครอบครัว ผู้ปกครอง และลดภาระนิสิตนักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยจะต้องทำให้นักศึกษามีรายได้เร็วที่สุด คือ เรียนจบได้ภายใน 2 ถึง 3 ปี ได้อย่างมีคุณภาพ เช่น ให้นักศึกษาสามารถลงเรียนรายวิชาต่างๆ ได้มากขึ้น ในบางรายวิชาเช่น การศึกษาทั่วไป (General Education) ทำให้มีรายได้เร็วขึ้น มีโอกาสมากขึ้น หรือให้มีรายได้ระหว่างเรียน อยากขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยช่วยกันลดเวลาเรียน เปิดโอกาสให้เด็ก ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยแล้วเก็บหน่วยกิตไว้ในธนาคารหน่วยกิตหรือเครดิตแบงก์ ซึ่ง อว.ได้แก้ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็ก ม.6 สามารถเรียนวิชาพื้นฐานระดับ ป.ตรี เก็บหน่วยกิตได้แล้วหลายวิชา เป็นต้นทุน ลดเวลาเรียน เพื่อให้สามารถเรียนจบมีงานทำได้เร็วขึ้น เป็นการลดค่าใช้จ่ายครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะนักศึกษาบางรายสามารถจบได้ภายใน 2 ปีครึ่ง ขณะที่บางมหาวิทยาลัยควรจะเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับนักศึกษา โดยนำเทคโนโลยีหรือเอไอมาปรับใช้ เช่น บางวิชาไม่ได้เปิดสอนทุกเทอม ก็อาจให้มีระบบเรียนออนไลน์ เพิ่มช่องทางให้กับนักศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ หากมหาวิทยาลัยไหน ที่ทำให้เด็กจบเร็ว มีงานทำ ทาง อว.ก็จะจัดให้มีระบบรีวอร์ด ประเมินผลงาน เพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณ ให้มหาวิทยาลัยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ” รัฐมนตรีว่าการ อว.กล่าว

น.ส.ศุภมาสกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมี Skill Transcript เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอุดมศึกษา โดยจะเพิ่มเติมจาก Transcript ปกติที่ระบุวิชาที่เรียนของบัณฑิตเท่านั้น Skill Transcript จะช่วยให้ภาคเอกชนหรือผู้ใช้บัณฑิต ทราบว่าบัณฑิตที่จบการศึกษา นอกจากจากรายวิชาที่เรียนแล้ว บัณฑิตยังมีทักษะอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่องาน หรือเมื่อรับบัณฑิตทำงานแล้ว ควรจะพัฒนาทักษะในด้านใด สำหรับเด็กที่จำเป็นต้องออกกลางคัน ไปใช้ในการสมัครงานได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้จบ ป.ตรี หรือสามารถนำไปสมัครงานสร้างรายได้ระหว่างเรียน และเมื่อพร้อมก็สามารถกลับมาเรียนได้ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ที่หลุดจากกรอบเดิม ดังนั้นอยากให้ทุกมหาวิทยาลัยช่วยกัน

Advertisement

ส่วนลดความเหลื่อมล้ำ คือการทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ตลอดช่วงชีวิต เพิ่มโอกาสในการเข้าสู่การศึกษา เด็กอยากเรียนต้องได้เรียน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่อัตราการเกิดน้อยลง เด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยน้อยลง ความต้องการอัพสกิล รีสกิล นิวสกิล เพิ่มขึ้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้มีความพร้อมรองรับความต้องการ ขณะเดียวกันยังต้องลดค่าใช้จ่ายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยได้ทำใน 6 ประเด็น คือ 1.ให้นักเรียนสมัครสอบ TCAS โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2.เปิดข้อสอบเก่า TCAS พร้อมเฉลย แต่จะไม่เปิดวิธีทำ เพื่อให้นักเรียนฺทุกคนมีโอกาสฝึกทำข้อสอบการเปิดข้อสอบเก่า เพื่อลดการติว ลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง

3.ลดการสอบข้อเขียนและเพิ่มการวัดทักษะในรูปแบบอื่นในการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย 4.สนับสนุนให้นักเรียนในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มด้อยโอกาส สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ 5.สร้างระบบการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีเอไอช่วยสอน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และ 6.จัดทำระบบให้ความช่วยเหลือแก่ นักเรียนที่สอบเข้าได้แต่มีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายหรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

และต่อไปจะเพิ่มช่องทางในการเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษา โดยเพิ่มการดูพัฒนาการตั้งแต่เด็ก เป็นแฟ้มสะสมงานหรือ พอร์ตโฟลิโอเพื่อให้เด็กที่มีความสามารถได้เข้าเรียน เพิ่มโอกาสให้กับเด็กกลุ่มเปราะบาง เด็กที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ ด้อยโอกาส ที่อาจจะไม่มีความพร้อมเหมือนคนทั่วไป มีระบบโควต้า หาช่องทางการมีงานทำ อีกเรื่องคือ เอไอยูนิเวอร์ซิตี้ มีระบบเอไอทิชเชอร์ สามารถสอนหนังสือโต้ตอบกับนักเรียนได้ ทาง อว.จะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ เพื่อลดภาระ ลดเวลา

ส่วน 2 เพิ่ม คือ เพิ่มทักษะ จะเน้นการเพิ่มและพัฒนาทักษะให้นักศึกษาและคนไทยทุกคนใน 3 ประเด็น คือ 1.Entrepreneurial & Financial Literacy ส่งเสริมให้มีการเรียนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะทางด้านการเงิน ให้แก่นักศึกษาในทุกหลักสูตร เด็กทุกคนสามารถจบออกมาแล้วเป็นผู้ประกอบการได้  2.Education 6.0 ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เอไอและเมตาเวิร์ส (Metaverse) มาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มทักษะสมัยใหม่ให้กับนักศึกษา และ 3.AI Skill Mapping จัดทำระบบแนะนำการเรียนเพื่อเพิ่มและพัฒนาทักษะ (Upskill/Reskill) ให้แก่นักศึกษาให้มีทักษะตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อให้ได้งานที่ดี มีรายได้สูงขึ้น

ในด้านการเพิ่มโอกาส โดยแนวทางที่จะเพิ่มโอกาสให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยและประเทศไทยจะทำใน 4 ประเด็น คือ 1.Experiential Learning Education การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้จากการทำงานจริงกับภาคเอกชน สร้างโอกาสให้นักศึกษาได้งานทำที่เหมาะสมหลังจบการศึกษา  2.Informal Education ในการผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศอย่างเร่งด่วน จะให้มีการจัดทำหลักสูตรที่ไม่อยู่ในรูปแบบปกติเพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตออกมาได้รวดเร็ว มีคุณภาพ เป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศ ในการเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น EV หรือเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) เป็นต้น 3.การทำงานวิจัยที่คมชัดตรงเป้าตามโจทย์ของประเทศ และ 4.University New S-Curve การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ที่สร้างรายได้ให้ประเทศ จากการดึงดูดผู้เรียนจากภายนอกประเทศเข้ามาเรียนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย

“ทั้งหมดนี้คือการทำให้การอุดมศึกษาเป็นของทุกคน ให้การศึกษาสร้างอนาคตของคน สร้างอนาคตของประเทศ ที่สำคัญ การปฏิรูปนี้จะเกิดขึ้นและสัมฤทธิ์ผลได้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเต็มที่ของทุกฝ่าย ทั้งกระทรวง อว. มหาวิทยาลัย ภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นๆ นำไปสู่การสร้างทักษะที่ทันสมัย สร้างโอกาสใหม่ๆ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนไทยทุกคน ซึ่งเชื่อว่า ศักยภาพเด็กไทย หากตั้งใจแล้วไม่แพ้ชาติใดในโลกแน่นอน” น.ส.ศุภมาสกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image