ข้อเสนอเชิงนโยบาย ในการแก้ไขปัญหาการอาชีวศึกษา โดย อนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางปฏิรูปการอาชีวศึกษา

ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมเกษตรกรรม การท่องเที่ยวและบริการ แต่การอาชีวศึกษายังไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อเท่าที่ควร จึงขอสรุปข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาของการอาชีวศึกษาในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ

การสร้างพลเมืองคุณภาพ
เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

-รัฐบาลนี้ได้ชี้ให้สังคมเห็นความสำคัญของการอาชีวศึกษา อธิบายถึงโอกาสของผู้จบอาชีวศึกษาจะมีงานทำ ในขั้นตอนต่อไปรัฐบาลควรกำหนดให้มียุทธศาสตร์และแผนกลยุทธ์ที่กำหนดทิศทางการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพและมีค่าตอบแทนที่มากเพียงพอ ที่จะเป็นแรงจูงใจให้ได้คนดีมีคุณภาพมาอยู่ในตลาดแรงงาน รวมถึงควรประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนเลือกมาเรียนอาชีวศึกษามากขึ้นโดยต่อเนื่อง และเร่งรัดให้กระทรวงศึกษาธิการทำกลยุทธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์และเจตคติในการเรียนอาชีวศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

-รัฐบาลต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการอาชีวศึกษา และแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการและการเกษตรใน 5-10 ปี ตามแนวทางที่กำหนดไว้ของ II KEY CLUSTERS/INDUSTRIES

Advertisement

-กระทรวงศึกษาธิการต้องกำหนดยุทธศาสตร์ระดับกระทรวงให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา บูรณาการการปฏิบัติงานด้านการศึกษาร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ครูและบุคลากรทางการศึกษา

-ควรเร่งรัดให้กระทรวงศึกษาธิการปฏิบัติตามแผนแก้ไขปัญหา “การขาดแคลนครู” ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมก่อนมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงจัดให้มีมาตรการจูงใจบุคคลที่มีความสามารถมาเป็นครูอาชีวศึกษา

Advertisement

-คณะกรรมการการอาชีวศึกษาควรจัดให้มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลสายอาชีวศึกษาเป็นการเฉพาะที่มีความแตกต่างไปจากระบบการบริหารงานบุคคลของการศึกษาสายสามัญ

-ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาพิจารณานำกฎสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาว่าด้วยการบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามาปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความเหมาะสมกับการบริหารบุคลากรสายอาชีวศึกษา รวมถึงกำหนดมาตรการช่วยเหลือครูในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ เท่าเทียมครูที่เป็นข้าราชการ

-การพิจารณากำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันการอาชีวศึกษาต้องมีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัย โดยให้พิจารณาจากประสบการณ์ การฝึกอาชีพ การมีผลงานทางนวัตกรรมด้านต่างๆ ตำรา และเอกสารคู่มือ ต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการศึกษาด้านอาชีวศึกษา

การจัดการเรียนรู้

-รัฐบาลควรสนับสนุนการเรียนการสอนระบบทวิภาคี ทั้งในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ทางด้านสาขางานช่างอุตสาหกรรม ด้านบริการ และด้านการเกษตร และควรแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานประกอบด้วยตัวแทนองค์กรที่เกี่ยวข้องให้มีอำนาจหน้าที่สนับสนุนการศึกษาระบบทวิภาคี ตรากฎหมายที่กำหนดขั้นตอนในการฝึกงานในระบบทวิภาคีที่ระบุหน่วยงานเจ้าภาพที่แน่นอน ระบุข้อกำหนดต่างๆ และกฎเกณฑ์ในการให้สิทธิประโยชน์แก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมดำเนินการ

-สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติของสมาชิกและสนับสนุนให้เข้าร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนระบบทวิภาคีให้กว้างขวางขึ้น

-นักศึกษาของระบบทวิภาคีต้องได้รับประกาศรับรองจากสถานประกอบการและวุฒิบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นผู้มีทักษะในสาขาวิชาชีพที่จบการศึกษา

การมีส่วนร่วม การเพิ่ม การกระจายโอกาส
และคุณภาพ การลดความเหลื่อมล้ำ

-สถานศึกษาอาชีวศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษาต้องจัดการศึกษา โดยประสานกับภาคธุรกิจเอกชนและสถานประกอบการเป็นเครือข่าย เพื่อจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

-คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยควรกำหนดเงื่อนไขในการสนับสนุนผู้มาลงทุนตั้งสถานประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคธุรกิจ SME ต้องร่วมสนับสนุนการเรียนการสอนระบบทวิภาคีด้วย

-กระทรวงศึกษาธิการต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมสนับสนุนให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนมีโอกาสให้การฝึกงานแก่นักศึกษาของตนเท่าเทียมกับนักศึกษาในวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ

-ประชากรอายุระหว่าง 15-17 ปี ที่มิได้เรียนหนังสือมีสูงถึงร้อยละ 30 ของประชากรอายุ 15-17 ปีทั้งหมด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาต้องสร้างโอกาสให้ประชากรกลุ่มนี้ได้ศึกษาในอาชีวศึกษา

-ในขณะที่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพยังไม่มีความสัมพันธ์กับการจ่ายค่าตอบแทน รัฐบาลควรกำหนดค่าตอบแทนให้กับผู้สำเร็จการศึกษาด้านอาชีวศึกษาไม่ต่ำกว่าแรงงานขั้นต่ำ และผลักดันให้มีการจ้างแรงงานโดยได้รับค่าตอบแทนตามสมรรถนะเป็นรายชั่วโมงตามมาตรฐานแรงงานสากล อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลควรให้คณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติกำหนดกรอบเงินค่าตอบแทนให้แก่ผู้จบการศึกษาด้านอาชีวศึกษาตามกรอบดังต่อไปนี้

-แรงงานขั้นต่ำ (ปัจจุบันไม่น้อยกว่า 300 บาท/วัน) = 37.50 บาท/ชั่วโมง

-ผู้ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ไม่น้อยกว่า 1.8 เท่าของแรงงานขั้นต่ำ

-ผู้ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ไม่น้อยกว่า 2 เท่าของแรงงานขั้นต่ำ

-ผู้ได้รับปริญญาตรีสายปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 2.5 เท่าของแรงงานขั้นต่ำ

หมายเหตุ ขอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อแบ่งเบาภาระของสถานประกอบการในกรณีที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ลูกจ้างมากกว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้

-ให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพกำหนดระบบการจัดระดับฝีมือของแรงงานตามสมรรถนะ และกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับสมรรถนะ

การบริหารจัดการ งบประมาณ และทรัพยากร

-กระทรวงศึกษาธิการควรกำหนดนโยบายสนับสนุนให้สถาบันการอาชีวศึกษาที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว เร่งรัดการพัฒนาผู้บริหารและข้าราชการให้มีขีดความสามารถบริหารงบประมาณและการบริหารงานบุคคลได้ภายใน 5 ปี หลังจากปัจจุบัน

-เร่งรัดกระทรวงศึกษาธิการออกกฎหมายระดับกฎกระทรวงให้เสร็จโดยเร็วตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำหนดแผนงานและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้เป็นรูปธรรม

-ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดให้มีมาตรการจูงใจให้สถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการอาชีวศึกษา เช่น การลดหย่อนภาษี การเชิดชูเกียรติ การให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็นกรณีพิเศษ การคิดภาษีนำเข้าเครื่องจักร และอุปกรณ์สำหรับการใช้ในระบบทวิภาคี (หรือนำมาช่วยในการฝึกงานนักศึกษา) เปรียบเสมือนเป็นอุปกรณ์ทางการศึกษา (แทนที่จะคิดว่าเป็นเครื่องจักรสำหรับการประกอบธุรกิจ)

-กระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการควรร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อจัดทำมาตรฐานวิชาชีพและวิธีประเมินสมรรถนะของแรงงาน รวมถึงการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

-คณะกรรมการการอาชีวศึกษาต้องกำหนดขอบเขตอำนาจของผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษาแต่ละแห่งในการทำนิติกรรมเพื่อให้มีความชัดเจนของการเป็นนิติบุคคล

หลักสูตรการเรียนรู้

-สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสถาบันการอาชีวศึกษาต้องกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนอาชีวศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการใช้เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ในสถานประกอบการให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และควรกำหนดให้หลักสูตรการอาชีวศึกษาเป็นหลักสูตรที่เน้นทางด้าน PROJECT BASED และ PROBLEM BASED พร้อมกันไปเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา นอกจากนี้หลักสูตรและแผนการเรียนการสอนต้องเป็นหลักสูตรและแผนการเรียนการสอนเป็นรายบุคคล (INDIVIDUAL PLAN)

-สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสถาบันการอาชีวศึกษาต้องมีการจัดทำหลักสูตร ฐานสมรรถนะ ส่งเสริมให้การจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเปิดโอกาสให้มีการจัดทำหลักสูตรอาชีวศึกษาตามบริบทของพื้นที่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

-กระทรวงศึกษาธิการควรมีนโยบายและมาตรการนำเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารเข้ามาสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้มากขึ้น เพื่อลดภาระครูผู้สอนและก้าวทันต่อเทคโนโลยี

สื่อการเรียนรู้และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
เพื่อการศึกษา

-สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาควรปรับปรุงศูนย์ข้อมูลกำลังคนอาชีวศึกษาให้ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้เรียนในสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน มีระบบสืบค้นได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และควรเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกระทรวงแรงงานด้วย

-สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาควรมีมาตรการในการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาแบบทวิภาคี โดยปรับปรุงวิธีดำเนินงานของโครงการ FIX IT CENTER ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงประสานงานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

อนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางปฏิรูปการอาชีวศึกษา
คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image