‘ธงทอง’ นำเสวนา ‘มหาวิทยาลัยในพระราชปณิธาน’ ยกย่อง ‘สมเด็จพระเทพฯ’ ผู้เริ่มต้นงานด้านศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารจุลจักรพงษ์ ทรงเป็นประธานในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยของชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาฯ ประจำปี 2537 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2537 ภาพจาก www.csr.chula.ac.th

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 มีนาคม ที่มติชนอคาเดมี นิตยสารศิลปวัฒนธรรมจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมเสวนา เรื่อง “มหาวิทยาลัยในพระราชปณิธาน : 100 ปี แห่งวิทยาการ และงานศิลปวัฒนธรรม” โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

ศ.พิเศษธงทองกล่าวว่า การศึกษาก่อนรัชกาลที่ 5 เป็นแบบจารีตนิยม หาโรงเรียนที่เป็นทางการยากมาก เด็กผู้ชายจะเรียนตามวัด เด็กผู้หญิงเรียนการบ้านการเรือน ส่วนในระดับสูงขึ้นไปก็ต้องไปถวายตัวกับเจ้านายตามรั้วตามวัง เมื่อมีความเปลี่ยนแปลง ไปมาหาสู่กับต่างประเทศมากขึ้น ชาติตะวันตกเข้ามาประชิดประเทศเพื่อนบ้าน เราจึงมีการพัฒนาการศึกษา ต่อมารัชกาลที่ 5 ดำริว่าต้องมีโรงเรียนชั้นสูง มีความพยายามแปลคำว่า “University” ว่าสากลวิทยาลัย โดยตั้งใจว่าโรงเรียนชั้นสูงแห่งแรกจะตั้งชื่อว่า “รัตนโกสินทร์สากลวิทยาลัย” แต่ก็ไม่ได้ตั้ง ในปี2442 มีการตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก ผลิตข้าราชการเข้าสู่กระทรวงมหาดไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาทรงวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาทรงวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458
ธงทอง จันทรางศุ
ธงทอง จันทรางศุ

“เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 ปี 2453 โรงเรียนขยายขึ้น เปลี่ยนเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างข้าราชการแต่ไม่จำกัดเฉพาะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย คนจึงเข้าเรียนมากขึ้น จากนั้นปี 2459 มีความเห็นสองฝ่ายว่าถึงเวลาที่จะตั้งมหาวิทยาลัยแล้วหรือยัง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ขณะที่กระทรวงคลังคัดค้าน รัชกาลที่ 6 ทรงวินิจฉัย ว่ารัชกาลที่5 ทรงตั้งพระทัยที่จะตั้งมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ จึงเกิดเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“รัชกาลที่ 6 เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนคืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน ซึ่งปีนี้อายุ 100 ปี ขณะที่มีอาคารแบบเดียวกันคืออาคารมหาวชิราวุธ สร้างปี2499 สมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม ทำเป็นหอสมุดกลางจุฬาฯ ขณะที่อาคารหอประชุมสร้างขึ้นทีหลังตึกบัญชาการในราวปี2480กว่า และมีการพัฒนามาเรื่อยๆ อาคารยุคแรกของจุฬาฯจะมีเอกลักษณ์เป็นทรงไทย”

Advertisement

จากนั้น ศ.พิเศษธงทองกล่าวถึงเรื่องศิลปวัฒนธรรมในจุฬาฯว่า จุดเริ่มต้นด้านศิลปวัฒนธรรมของจุฬาฯ คือ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นนิสิตในปี2516 พระองค์ทรงเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีไทยร่วมกับนิสิตอื่นๆ ตลอดเวลา4ปีที่ศึกษาในจุฬาฯ ทรงทำกิจกรรมร่วมกับชมรมดนตรีไทยมาตลอดและทรงมีความรู้เรื่องดนตรีไทยอย่างดี ทำให้คนอื่นหันกลับมาสนใจดนตรีไทยไม่เฉพาะในจุฬาฯแต่ยังรวมถึงสังคมไทยทั่วไปด้วย

“ทุกวันนี้เมื่อมีพิธีไหว้ครูดนตรีไทยพระองค์จะเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ทุกปี ภายหลังจึงย้ายมาจัดที่หอประชุมใหญ่ โดยพระองค์ทรงดนตรีไทยด้วยพระองค์เองทุกปี ยุคแรกที่มีการทำวงดนตรีดึกดำบรรพ์ พระองค์เสด็จมาซ้อมด้วย โดยมีครูประสิทธิ์ ถาวร ถวายการฝึกซ้อม ในยุคแรกฝึกกันที่บ้านครูประสิทธิ์ ภายหลังย้ายมาซ้อมที่บ้านหลังเล็กๆในจุฬาเป็นสำนักงานกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม ต่อมาในปี 2530 มีการจัดแสดงดนตรีไทยครั้งแรก สมเด็จพระเทพฯทรงดนตรีไทยร่วมกับวงเป็นประจำทุกปี ภายหลังทรงดำริให้มีการแสดงจากบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงนิพนธ์ใหม่ทุกปีเพื่อแสดงร่วมกับดนตรีไทย นอกจากนี้ยังมีวงซิมโฟนีออร์เคสตราของจุฬาฯ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสนับสนุนด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้นักดนตรีไปศึกษาเพิ่มความรู้ โดยวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯได้ขอพระราชทานอยู่ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ” ศ.พิเศษธงทองกล่าว

ธงทอง จันทรางศุ

Advertisement

ทั้งนี้ ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ จะมีการจัดงานจุฬาฯ 100 ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ เวลา 17.30-20.30 น. ที่สนามหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราช จะรวมนิสิตเก่าจุฬาฯทั่วประเทศสวมชุดสุภาพสีดำร่วมกันจุดเทียน เพื่อแสดงความอาลัยและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมราชูปถัมภก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งระลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้พระราชทานกำเนิด และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงประดิษฐานและทรงสถาปนาจุฬาฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาเป็นจำนวนมาก และมีผู้เข้าร่วม อาทิ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบมจ.มติชน นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.สันติ ฉันทวิลาสวงศ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีจุฬาฯ นายกรรชิต จิตระทาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ โดยในบริเวณงานมีการขายหนังสือลดราคาจากสำนักพิมพ์ต่างๆ อีกทั้งยังมีการจัด “ตลาดนัดอคาเดมี” จำหน่ายอาหารและของใช้ สร้างความคึกคักให้ผู้มาร่วมงานที่ได้จับจ่ายสินค้า

3Q2A0471
(จากซ้าย) สุพจน์ แจ้งเร็ว, ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์, พิรงรอง รามสูตร, ธงทอง จันทรางศุ, สันติ ฉันทวิลาสวงศ์, กรรชิต จิตระทาน, ฐากูร บุนปาน
 เมื่อแรกสร้าง "ตึกเทวาลัย" อาคารหลังนี้ถูกเรียกว่า "ตึกบัญชาการ" ถือเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร "อักษรศาสตร์ 1" และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "อาคารมหาจุฬาลงกรณ์" (ภาพจากหนังสือ ร้อยเรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาฯ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558)
เมื่อแรกสร้าง “ตึกเทวาลัย” อาคารหลังนี้ถูกเรียกว่า “ตึกบัญชาการ” ถือเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร “อักษรศาสตร์ 1” และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “อาคารมหาจุฬาลงกรณ์” (ภาพจากหนังสือ ร้อยเรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาฯ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558)
แบบตึกใหญ่ของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ หรือตึกบัญชาการแบบไทย ออกแบบโดย ดร.คาร์ล ดอห์ริ่ง นายช่างของกระทรวงมหาดไทย และ นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ นายช่างของกระทรวงธรรมการ โดยอาศัยแบบไทยโบราณจากสุโขทัยและสวรรคโลก (ภาพจาก หนังสือ 70 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530)
แบบตึกใหญ่ของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ หรือตึกบัญชาการแบบไทย ออกแบบโดย ดร.คาร์ล ดอห์ริ่ง นายช่างของกระทรวงมหาดไทย และ นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ นายช่างของกระทรวงธรรมการ โดยอาศัยแบบไทยโบราณจากสุโขทัยและสวรรคโลก (ภาพจาก หนังสือ 70 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image